เมื่อวันที่ 10 – 14 มิถุนายน 2567, สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ สคพ. จัดกิจกรรมฝึกอบรมหลักสูตรขั้นสูงเกี่ยวกับการทูตเชิงพาณิชย์และการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (Advanced Program on Commercial Diplomacy and International Trade Negotiations) ณ ห้อง Auditorium ชั้น 3 และ ห้อง Thong Lo ชั้น 4 โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท
โดยนายสุภกิจ เจริญกุล (ผู้อำนวยการ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา) ให้การกล่าวต้อนรับและกล่าวในพิธีเปิดกิจกรรมฝึกอบรม และมีนางสาวสิริกาญจน์ ประเสริฐยิ่ง (ผู้อำนวยการ สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา) กล่าวถึงวัตถุประสงค์และภาพรวมของการฝึกอบรม ซึ่งการฝึกอบรมดังกล่าวนี้ มีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 22 คน โดยแบ่งเป็นคนไทยจำนวน 15 คน จากหน่วยงานภาครัฐ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันการอุดมศึกษา กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม องค์กรเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข สถานทูตออสเตรเลีย เป็นต้น และชาวต่างชาติจำนวน 7 คน จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ทูตพาณิชย์ และองค์กรระหว่างประเทศ จาก 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และยุโรปตะวันออก อาทิ สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต, สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ, สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา, และสาธารณรัฐโรมาเนีย โดยวัตถุประสงค์หลักของการฝึกอบรมครั้งนี้เพื่อเพิ่มพูนความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยใช้แนวทางการทูตเชิงพาณิชย์ เสริมสร้างทักษะและเทคนิคในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อให้นำนโยบายด้านการค้าการลงทุนไปใช้ในการเจรจาอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต รวมทั้งสร้างเครือข่ายนักเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
สาระสำคัญของการฝึกอบรมครั้งนี้ครอบคลุมถึง สถานการณ์ปัจจุบันและประเด็นการค้าใหม่ที่สำคัญ เช่น สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกและการเปลี่ยนแปลงทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน การเจรจาที่สามารถนำไปสู่ประโยชน์ของประเทศ ความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การระงับข้อพิพาททางการค้าตลอดทั้งข้อตกลงทางการค้าที่มีผลกระทบต่อสังคม การค้าดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ การค้าและเทคโนโลยี การใช้งานระบบ UNESCAP Trade Intelligence and Negotiation Advisory (TINA) พร้อมทั้งการฝึกเทคนิคการเจรจาโดยการจำลองสถานการณ์กลุ่ม เพื่อฝึกปฏิบัติในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ การนำเสนอของกลุ่ม และการมองการณ์ไกลเชิงกลยุทธ์สำหรับหัวหน้าการเจรจา
นอกจากนี้ กิจกรรมฝึกอบรมครั้งนี้ ได้รวมถึงกิจกรรม (Empowering Trade Leaders) การเสวนาเสริมศักยภาพผู้นำทางการค้าในการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมศักยภาพผู้นำทางการค้าให้เกิดมุมมองด้านกลยุทธ์การเจรจาต่อรองผ่านการแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้นำทางการค้าที่มีประสบการณ์ และสร้างเครือข่ายและความร่วมมือในกลุ่มทูตพาณิชย์ ผู้นำทางการค้าและผู้ที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ผู้ประกอบการทางการค้าต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และภูมิภาคอื่นๆในระดับนานาประเทศ กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นในวันที่ 13 มิถุนายน 2567 เวลา 18.00 – 21.00 น. ณ ห้องสยามฮอลล์ (Siam Hall) ชั้น 6 โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และผู้แทนการค้า ทูตพาณิชย์ ตลอดจนผู้กำกับนโยบายต่างๆ และองค์กรระหว่างประเทศ รวมจำนวน 91 คน
โดยกิจกรรมครั้งนี้ นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ กรรมการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ได้ให้เกียรติในการกล่าวต้อนรับและเปิดกิจกรรมดังกล่าว และได้รับเกียรติจากนายเกียรติ สิทธิอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย ในการกล่าวและแสดงวิสัยทัศน์ หัวข้อ “ความท้าทายของการเจรจาระหว่างประเทศภายใต้ภูมิรัฐศาสตร์โลกปัจจุบัน” จากนั้นกิจกรรมในค่ำคืนดังกล่าวยังได้มีการเสวนาร่วมกันบนเวทีในหัวข้อ “Insight on Leadership Challenges of Negotiations Strategy” ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ (รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) ดร. มีชัย เถ้าเจริญ (ผู้แทน BRICS Alliance Thailand) ดร. รูปา จันดา (ผู้อำนวยการฝ่ายการค้า การลงทุน และนวัตกรรม UNESCAP) และนายพรชัย ประภาวงศ์ เจ้าหน้าที่การค้าระดับผู้เชี่ยวชาญ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (DTN) กระทรวงพาณิชย์ ประเทศไทย ในการร่วมกันเสวนาในหัวข้อดังกล่าว โดยมีนายวารินทร์ สัจเดว เป็นพิธีกรและผู้ดำเนินรายการ
ทั้งนี้คุณค่าของจัดกิจกรรมฝึกอบรมและกิจกรรมเสวนาในครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยมีประเทศไทย นำโดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) สนับสนุนในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการเจรจาการค้าให้เกิดความยั่งยืนในมิติเศรษฐกิจ สังคม และความยั่งยืนต่อไป