การอำนวยความสะดวกทางการค้าเพื่อพัฒนาการค้าชายแดน

view 10862 facebook twitter mail

การอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation) เป็นแนวทางที่สำคัญต่อการค้าข้ามพรมแดน (Trading across border) และการค้าชายแดน ในปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นให้เกิดความเรียบง่าย ความสอดคล้อง และความโปร่งใสในกระบวนการ พิธีการและขั้นตอนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างประเทศ การพัฒนาการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้มีประสิทธิภาพจะช่วยลดต้นทุนทางการค้าและระยะเวลาการนำเข้าและส่งออก ซึ่งจะสนับสนุนให้ธุรกิจมีต้นทุนที่ลดลงและก่อให้เกิดการขยายตัวทางการค้าการลงทุนอันจะนำมาซึ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา การเจริญเติบโตทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (ยกเว้นจีน) หรือกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งประกอบไปด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม มีสัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและมีแนวโน้มการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยกลายเป็นประเทศคู่ค้าที่มีความสำคัญต่อประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV  อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน การอำนวยความสะดวกทางการค้าในกลุ่มประเทศ CLMVT ยังคงเผชิญกับอุปสรรคทางการค้าและการเคลื่อนย้ายสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างกัน ซึ่งเป็นผลมาจากระบบโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ยังไม่เพียงพอและไม่มีประสิทธิภาพ กฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ไม่ทันสมัยและไม่สอดคล้องกับบริบททางการค้าในปัจจุบัน รวมทั้งกระบวนการและการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการอำนวยความสะดวกทางการค้ายังไม่มีประสิทธิภาพเท่าใดนัก ส่งผลให้เกิดมีต้นทุนทางการค้าและระยะเวลาที่สูงขึ้นโดยไม่จำเป็น อันเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกลุ่มประเทศ CLMVT

ด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMVT ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเนื่องด้วยความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานและนโยบายการลงทุนที่น่าสนใจได้ดึงดูดการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตเพื่อการส่งออก และรัฐบาลของแต่ละประเทศได้มีการลงทุนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้มีมูลค่าและปริมาณการนำเข้าและส่งออกสินค้าของแต่ละประเทศที่สูงขึ้นในแต่ละปี จากบริบทดังกล่าวส่งผลให้ประเด็นด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่มีบทบาทที่สำคัญในการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับแต่ละประเทศ 

การอำนวยความสะดวกทางการค้าในกลุ่มประเทศ CLMVT ยังคงเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญหลายประการ โดยธนาคารโลกได้มีศึกษาและจัดทำ “Doing Business Report 2018” ซึ่งเป็นรายงานที่ระบุถึงดัชนีด้านต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจของแต่ละประเทศ โดยสรุปจากรายงานดังกล่าวในหัวข้อการค้าข้ามพรมแดน (Trading across border) ปี พ.ศ. 2561 (ค.ศ. 2018) พบว่า ประเทศในกลุ่ม CLMVT ยังคงมีระยะเวลาและต้นทุนในการนำเข้าและส่งออกในระดับที่สูงซึ่งส่งผลต่อความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการของแต่ละประเทศ โดย เมียนมา และ สปป.ลาว ยังคงเผชิญกับอุปสรรคด้านต้นทุนและระยะเวลาที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่มีสูง ทำให้อยู่ในลำดับที่ 163 และ 124 จาก 190 ประเทศ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงพัฒนาในประเด็นด้านการค้าข้ามพรมแดนอย่างเร่งด่วน โดยประเด็นที่สำคัญของเมียนมา ได้แก่ ต้นทุนและระยะเวลาที่เกิดขึ้นบริเวณพรมแดนที่ยังมีสูง ซึ่งเป็นต้นทุนและระยะเวลาที่เกี่ยวข้องในการดำเนินพิธีการศุลกากร การตรวจสอบสินค้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้นทุนและระยะเวลาในการขนถ่ายสินค้าบริเวณท่าเรือหรือพรมแดน ส่วนประเด็นที่สำคัญของ สปป.ลาว ได้แก่ ต้นทุนและระยะเวลาที่เกิดขึ้นในการดำเนินเอกสารที่ยังมีสูง ซึ่งหมายถึงต้นทุนและระยะเวลาตั้งแต่การจัดเรียมเอกสาร ยื่นเอกสาร ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออก และดำเนินการด้านเอกสารดังกล่าวจนเสร็จ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ กัมพูชา เวียดนาม และไทย ยังคงต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องในการลดระยะเวลาและต้นทุนในการนำเข้าและส่งออกเพื่อเป็นการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันภายในกลุ่มประเทศ CLMVT ต่อไป  

นอกจากนี้ ความสามารถด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศยังสามารถบ่งชี้ถึงประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกทางการค้าของประเทศ โดยธนาคารโลกได้มีการศึกษาและจัดทำ “Logistics performance index ปี 2018” โดยในส่วนของความสามารถด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศจะมีการประเมินประสิทธิภาพใน 6 ปัจจัย ได้แก่ ศุลกากร โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งระหว่างประเทศ ความสามารถด้านโลจิสติกส์ การติดตามสถานะสินค้า และความน่าเชื่อถือด้านระยะเวลาการขนส่ง ซึ่งโดยสรุปในส่วนของกลุ่มประเทศ CLMVT ปี พ.ศ. 2561 (ค.ศ. 2018) พบว่า เมียนมา มีความสามารถด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศอยู่ในลำดับที่ 137 จาก 160 ประเทศ และเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศ CLMVT พบว่ามีคะแนน LPI ต่ำที่สุดเกือบทุกปัจจัย โดยเมียนมาอยู่ในระหว่างการปรับปรุงพัฒนาทางเศรษฐกิจในหลายด้าน ซึ่งระบบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และระบบการบริหารจัดการทั้งภาครัฐและเอกชนที่ยังไม่มีประสิทธิภาพมากนักและอยู่ในระหว่างการพัฒนา ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เมียนมาจะต้องเร่งพัฒนาในทุกด้านเพื่อยกระดับความสามารถด้านโลจิสติกส์ ซึ่งจะช่วยให้การอำนวยความสะดวกทางการค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และไทย ยังคงมีปัญหาและอุปสรรคในด้านโลจิสติกส์ในประเด็นและระดับที่แตกต่างกัน ซึ่งยังคงต้องมีการพัฒนาด้านโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการยกระดับประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกทางการค้าในอีกทางหนึ่งด้วย

ภาพรวมของกลุ่มประเทศ CLMVT ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าจากดัชนีชี้วัดดังกล่าวทั้งสองข้างต้น อาจจะไม่ได้สะท้อนภาพรวมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า แต่อย่างน้อยทำให้สามารถเห็นภาพอย่างกว้างของสถานการณ์และปัญหาในด้านต่าง ๆ ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศ CLMVT ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการมุ่งเน้นการลำดับความสำคัญในการพัฒนาการอำนวยความสะดวกทางการค้าในอนุภูมิภาคต่อไป

จากการศึกษาการอำนวยความสะดวกทางการค้าในกลุ่มประเทศ CLMVT พบว่า ปัจจุบัน แต่ละประเทศยังคงเผชิญกับอุปสรรคด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าในระดับที่แตกต่างกัน แต่ประเภทของปัญหาและอุปสรรคที่เผชิญจะมีความคล้ายคลึงกัน โดยสามารถสรุปประเด็นปัญหาต่าง ๆ ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าในกลุ่มประเทศ CLMVT ได้ดังนี้

  1. ความเข้าใจในขอบเขตและนิยามในแต่ละ Category ของความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้องค์การการค้าโลกของแต่ละหน่วยงานมีความแตกต่างกัน
    ปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดความสับสนและไม่มั่นใจในการประเมินและจัดหมวดหมู่ในแต่ละมาตราได้อย่างเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น ยังคงมีความสับสนระหว่างหน่วยงานในการตีความและการระบุมาตราใน Category A ว่าจะต้องสามารถปฏิบัติตามมาตราดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่ หรือเพียงแค่สามารถปฏิบัติตามได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ส่งผลให้การตีความใน Category A ของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ทำให้เกิดความไม่เป็นมาตรฐานในการจัดประเภทและหมวดหมู่ของแต่ละมาตราที่อาจไม่สะท้อนถึงสภาพการดำเนินงานแท้จริง
  2. ด้านกระบวนการที่เกี่ยวข้องในการนำเข้า-ส่งออก
    แต่ละประเทศยังคงเผชิญปัญหาด้านกระบวนที่ซับซ้อนและซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงาน ความไม่ชัดเจนของขั้นตอนและกระบวนการซึ่งก่อให้เกิดความไม่โปร่งใสของขั้นตอนการดำเนินงาน โดยมีระดับของปัญหาที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ นอกจากนี้ ในบางจุดผ่านแดนยังมีขั้นตอนการดำเนินงานและกระบวนการที่แตกต่างกัน ทำให้ขั้นตอนและกระบวนการไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
  3. ด้านกรอบกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
    การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางการค้าอย่างรวดเร็วในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลกฎหมายและกฎระเบียบเดิมที่มีอยู่ไม่มีความสอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ประเทศในกลุ่ม CLMVT จำเป็นต้องทบทวนพิจารณาในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า ให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับบริบททางการค้าในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายทางศุลกากร และกฎหมายธุรกิจ เป็นต้น
  4. ด้านสถาบัน
    หน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้ายังมีการดำเนินงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจาก 1) บางหน่วยงานยังคงขาดความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจนของตนเองซึ่งอาจก่อให้เกิดการละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ หรือก่อให้เกิดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานกับหน่วยงานอื่น ๆ  2) บางหน่วยงานยังคงขาดความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจก่อให้เกิดการปฏิบัติงานที่เป็นเอกเทศโดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานอื่น ๆ 3) การขาดการประสานงานที่ดีระหว่างหน่วยงาน ส่งผลให้เกิดการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานที่ไม่สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
  5. ด้านบุคลากร
    เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานถือเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการช่วยขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกทางการค้า บุคลากรที่มีประสบการณ์ ทักษะและความเชี่ยวชาญย่อมช่วยให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศในกลุ่ม CLMVT มักประสบกับประเด็นปัญหาด้านบุคลากรใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1) ขาดบุคลากรที่มีทักษะและความสามารถ 2) บุคลากรในการปฏิบัติงานไม่เพียงพอ การวางแผนในการฝึกอบรมในการพัฒนาความสามารถของบุคลากรอย่างต่อเนื่องและการวางแผนด้านการจัดสรรกำลังคนอย่างเหมาะสม จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะช่วยยกระดับความสามารถและเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รวมทั้งการอำนวยความสะดวกทางการค้า
  6. ด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก 
    ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกทางการค้าและเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ ปัจจุบันประเทศในกลุ่ม CLMVT ได้มีการเร่งลงทุนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในด้านต่าง ๆ แต่ยังคงมีไม่เพียงพอและไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องลงทุนพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนให้การอำนวยความสะดวกทางการค้าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ระบบเทคโนโลยีการสื่อสาร ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เครื่องมือและอุปกรณ์ในการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศยังคงมีข้อจำกัดในการจัดสรรงบประมาณสำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เหล่านี้ การจัดทำแผนขอรับการสนับสนุนด้านเงินทุน ความช่วยเหลือทางเทคนิคและการพัฒนาความสามารถจากองค์กรผู้ร่วมพัฒนาเป็นแนวทางหนึ่งซึ่งกลุ่มประเทศ CLVMT สามารถดำเนินการได้

เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคดังกล่าว สรุปข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาการอำนวยความสะดวกทางการค้าร่วมกันคือ การมีบทบาทและส่วนร่วมของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้นำ รวมทั้งการสนับสนุนเชิงเทคนิคและการพัฒนาขีดความสามารถให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาค การจัดตั้งคณะอนุกรรมการว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าในอนุภูมิภาคภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) การร่วมกันกำหนดนิยามและขอบเขตที่ชัดเจนในการจัดหมวดหมู่ในแต่ละกลุ่มการจำแนกความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้องค์การการค้าโลก การร่วมกันจัดทำคู่มือแนะนำการปฏิบัติตามความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้องค์การการค้าโลก และการดำเนินการตามแนวปฏิบัติของอนุสัญญาโตเกียวฉบับปรับปรุงขององค์การศุลกากรโลก เป็นต้น

เอกสารเกี่ยวข้อง

itd-logo-detail
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)
โทรศัพท์: +66 (0) 2216 1894-7
โทรสาร: +66 (0) 2216 1898-9
อีเมล: info@itd.or.th

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top