เกี่ยวกับเอกสาร
ในปี ค.ศ. 2015 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งมีเป้าหมายทั้งสิ้น 17 เป้าหมาย ครอบคลุมประเด็นการพัฒนาในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทุกประเทศทั่วโลกมีวิสัยทัศน์เดียวกันในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและบรรลุเป้าหมายดังกล่าวภายใน ปี ค.ศ. 2030
การค้าระหว่างประเทศถือเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยกรณีศึกษาของกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีน (เฉพาะมณฑลยูนานและเขตปกครองตนเองกว่างซี) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศขนาดเล็กที่มีสัดส่วนของการค้าระหว่างประเทศต่อรายได้ประชาชาติสูง พบว่า ในเป้าหมายด้านเศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเป้าหมายที่ 1 (ขจัดความยากจน) เป้าหมายที่ 2 (ขจัดความหิวโหย) และเป้าหมายที่ 8 (การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน) แต่อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อเป้าหมายที่ 10 (ลดความไม่เท่าเทียมทั้งภายในและระหว่างประเทศ)
นอกจากนี้ สำหรับเป้าหมายด้านสังคม การค้าระหว่างประเทศจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเป้าหมายที่ 5 (การจ้างงานสตรี) และเป้าหมายที่ 17 (เสริมสร้างกลไกความร่วมมือระดับโลก) ในทางตรงกันข้าม เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากการค้าระหว่างประเทศโดยส่วนใหญ่ ทั้งเป้าหมายที่ 15 (ส่งเสริมระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน) เป้าหมายที่ 13 (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) และเป้าหมายที่ 14 (อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล) เนื่องจากกลุ่มประเทศ GMS พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการค้าและการท่องเที่ยวมากเกินไป และยังไม่ลงทุนในนวัตกรรมสีเขียวเท่าที่ควร
ดังนั้น หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศอาจพิจารณาการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าและลดอุปสรรคทางการค้า เพื่อส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ การสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะส่งเสริมเป้าหมายด้านเศรษฐกิจโดยตรง รวมถึงเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม หากมีการสนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก และการใช้นโยบายที่ไม่ใช่ภาษีที่จะเชื่อมไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยตรง โดยเฉพาะเป้าหมายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การบังคับใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และการส่งเสริมการค้าภายใต้ระบบ Carbon Footprint