บทความวิชาการ
view 781 facebook twitter mail

สินเชื่อสีเขียว ‘อาเซียน’ เติบโตต่อเนื่อง

เกี่ยวกับเอกสาร

ภูมิภาคอาเซียนมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) สูง รายงาน The ASEAN Climate and Energy Paradox ชี้ให้เห็นว่า ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และเมียนมา เป็น 4 ประเทศจาก 10 ประเทศทั่วโลก ที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงสูงสุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งด้านความเป็นอยู่ที่แย่ลงของประชากรและการชะงักตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อความเป็นอยู่ที่ดีในท้ายที่สุด

เพื่อหยุดยั้งผลกระทบเชิงลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศสมาชิกอาเซียนจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ การเงินสีเขียวหรือ Green Finance คือหนึ่งกลไกสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการในทุกอุตสาหกรรมลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียว เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดกระบวนการผลิต

รายงาน ASEAN Sustainable Debt Market 2021 โดย Climate Bonds และ HSBC ระบุว่า ภูมิภาคอาเซียนนำโดย 6 ประเทศสมาชิกที่สำคัญ ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ มีการปล่อยสินเชื่อสีเขียวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปีติดต่อกันนับตั้งแต่ปี 2016 และในปี 2021 ที่ผ่านมา สินเชื่อสีเขียวมีมูลค่ารวมสูงที่สุดอยู่ที่ 24 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเติบโตขึ้นประมาณ 76.5% จากปี 2020

สินเชื่อสีเขียวดังกล่าวสนับสนุนการลงทุนในอาคารสีเขียวและพลังงานสะอาดเป็นหลัก โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 52.8% และ 26.6% ของมูลค่าสะสมของสินเชื่อสีเขียวทั้งหมดตั้งแต่ปี 2016-2021 ตามลำดับ ทั้งนี้อีก 7.5% เป็นการขอรับสินเชื่อสีเขียวเพื่อพัฒนาการคมนาคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนอีก 13% ที่เหลือเป็นการขอรับสินเชื่อเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคอื่น ๆ เช่น น้ำ และเทคโนโลยีสารสนเทศที่สอดคล้องกับความยั่งยืน

เมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศพบว่า มี 6 ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เป็นแบบอย่างที่ดีด้านการใช้กลไกการเงินสีเขียว ได้แก่  สิงคโปร์ ถือเป็นผู้นำด้านการปล่อยสินเชื่อสีเขียวในภูมิภาคอาเซียน โดยมีการปล่อยสินเชื่อสีเขียวสูงที่สุดในภูมิภาค มูลค่าประมาณ 12 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 รัฐบาลสิงคโปร์มีส่วนช่วยสำคัญต่อการสนับสนุนสินเชื่อสีเขียวนี้

ประเทศไทย ถือเป็นผู้นำด้านการปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Debt) ซึ่งต่างจากสินเชื่อสีเขียว โดยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนจะครอบคลุมประเด็นทางสังคมและแรงงาน ประเทศไทยได้ปล่อยสินเชื่อยั่งยืนประมาณ 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021

อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ มีจุดเด่นด้านการปล่อยสินเชื่อสีเขียวและสินเชื่อยั่งยืนในหลายขนาดวงเงิน ตั้งแต่ระดับ 100 ล้านเหรียญสหรัฐจนถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการหลายขนาดได้เข้าถึงเงินทุนเพื่อการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม

เวียดนามและมาเลเซียมีจุดเด่นคล้ายกันคือ สินเชื่อสีเขียวมีมูลค่าเติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน และรัฐบาลมาเลเซียยังเป็นรัฐบาลแรกในโลกที่ออกตราสารเพื่อความยั่งยืนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ นามว่า “ศุกูก” (Sukuk)

นอกจากนี้ ในระดับภูมิภาค ASEAN Taxonomy Board ได้เผยแพร่รายงาน ASEAN Taxonomy for Sustainable Finance เพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศในการออกแบบนโยบายเพื่อสนับสนุนการเงินเพื่อความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม

แนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อสีเขียวในภูมิภาคอาเซียนแสดงให้เห็นว่า ภูมิภาคอาเซียนได้ตระหนักถึงผลกระทบจากวิกฤตสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง และพร้อมจะใช้เครื่องมือหลายรูปแบบ ซึ่งรวมถึงกลไกทางการเงินในการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับความยั่งยืนยิ่งขึ้น

ผู้เขียน
อรณัฐ บุปผเวส
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : การเงิน-ลงทุน
ปีที่ 35 ฉบับที่ 12161 วันพุธที่ 13 กรกฎาคม 2565
หน้า 10 (ซ้าย) คอลัมน์ “Insight ASEAN

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 781 facebook twitter mail
Top