บทความวิชาการ
view 854 facebook twitter mail

กระแสเศรษฐกิจสีเขียวกับโอกาสอาเซียน

เกี่ยวกับเอกสาร

ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกหลังการระบาดของโรคโควิด-19  การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติ และการความขัดแย้งระหว่างประเทศในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่สภาวะถดถอย เกิดสภาวะข้าวยากหมากแพง การขาดแคลนทั้งอาหาร สินค้า และทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นทั้งปัจจัยยังชีพและปัจจัยการผลิตในทั่วโลก ก่อให้เกิดการตั้งคำถามถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในเวทีเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศและเป็นโอกาสสำคัญของประเทศกำลังพัฒนาที่จะส่งเสียงบนเวทีระหว่างประเทศในฐานะผู้ได้รับผลกระทบและผู้บุกเบิกการเปลี่ยนแปลง

การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค ครั้งที่ 29 ที่เพิ่งปิดฉากลงไป ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคได้รับรอง “Bangkok Goals” ที่ผลักดันโดยประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพซึ่งมีเจตนารมณ์ให้การบรรลุเป้าหมายของ APEC มีความครอบคลุมและยั่งยืนด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy Model) ซึ่งเป็นการบูรณาการแนวทางเศรษฐกิจ 3 ประการ ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มและลดปริมาณขยะ การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการส่งเสริมแผนธุรกิจที่ยั่งยืน

สอดคล้องกับผลจากการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 40 และ 41 ณ กรุงพนมเปญ เมื่อต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา กัมพูชาในฐานะเจ้าภาพการประชุมเสนอแนวคิดการจัดตั้ง ASEAN Green Deal เพื่อพลิกโฉมอาเซียนให้เป็นภูมิภาคแห่งอนาคตสีเขียว ส่งเสริมความยั่งยืน ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ยืดหยุ่น และมีความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนยังเน้นย้ำถึงการส่งเสริมให้สภาธุรกิจอาเซียนมีบทบาทในการสนับสนุนการสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่เป็นสีเขียวและยั่งยืน

สะท้อนให้เห็นว่าหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถอดถอยไปทั่วโลก การเปลี่ยนแปลของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงผลกระทบจากสงครามการค้าและความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ  ล้วนเป็นปัจจัยเร่งให้ประเด็นเศรษฐกิจสีเขียวและความยั่งยืนถูกยกระดับเป็นประเด็นระหว่างประเทศ (Internationalization) รวดเร็วยิ่งขึ้น เปิดช่องทางให้นานาประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทสำคัญในการรักษาสมดุลระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ  

ประเทศไทยและอาเซียนในฐานะที่เป็นฐานการผลิตทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการที่สำคัญของโลกเป็นผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย การขาดแคลน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติ และการสูญสลายของทรัพยากรธรรมชาติ  ดังนั้นจึงเป็นโอกาสสำคัญของไทยและอาเซียนในการยกระดับการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและความยั่งยืนเพื่อเสริมพลังในการต่อรองกับประเทศนอกภูมิภาคโดยใช้กลไกการรักษาความเป็นแกนกลาง (ASEAN Centrality) ที่มีอยู่ของอาเซียนให้เกิดประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนประเด็นเศรษฐกิจสีเขียวไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้เพียงการแข่งขันนำเสนอแนวคิดหรือการผลิตปฏิญญาใด ๆ แต่ต้องอาศัยการกำหนดนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม สร้างแรงจูงให้ภาคธุรกิจและภาคประชาชนตระหนักถึงการมีส่วนร่วม ควบคู่กับการบูรณาการความร่วมมือระหว่างประเทศด้วยกลไกของอาเซียนและกรอบความความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค อันจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

ผู้เขียน
กอปร์ธรรม นีละไพจิตร
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12256 วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน 2565
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 854 facebook twitter mail
Top