บทความวิชาการ
view 1721 facebook twitter mail

FTAAP ฟื้นโอกาส APEC

เกี่ยวกับเอกสาร

การประชุม APEC 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้ ได้ยกแนวคิดหลักคือ “Open Connect Balance” โดยภายใต้แนวคิด “ Open” ซึ่งกล่าวถึงการเปิดโอกาสด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ หนึ่งประเด็นหารือที่สำคัญที่สุดคือ การขับเคลื่อนการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิกหรือ Free Trade Area of the Asia Pacific (FTAAP) ภายหลังการสิ้นสุดการแพร่ระบาดของโควิด-19

Free Trade Area of the Asia Pacific หรือ FTAAP หมายถึง เขตการค้าเสรีระหว่างประเทศสมาชิก APEC ทั้ง 21 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี ชิลี เปรู รัสเซีย และประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 7 ประเทศคือ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน

FTAAP จะมุ่งเน้นการลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก เช่น กำหนดให้ภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ การมีนโยบายทางการค้าและการลงทุนที่สอดคล้องกันระหว่างประเทศสมาชิก การเปิดเสรีภาคสินค้าและบริการ และนโยบายอำนวยความสะดวกทางการค้าต่าง ๆ รวมทั้งการจัดฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางการค้าของแต่ละประเทศให้เท่าเทียมกัน

หาก FTAAP มีการเจรจาและบังคับใช้ จะถือเป็นกรอบความร่วมมือทางการค้าที่น่าจับตามอง เนื่องจาก FTAAP ครอบคลุมขนาดเศรษฐกิจที่สูงถึง 52 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 60% ของ GDP โลก และครอบคลุมขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่ากรอบความร่วมมือ RCEP ประเทศสมาชิกยังมีมูลค่าการค้ารวมกันประมาณ 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และจะมีโอกาสเติบโตมากกว่านี้หากมี FTAAP ที่ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การขับเคลื่อนการเจรจา FTAAP ได้หยุดชะงักไปเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้รายงาน Lessons from the COVID-19 Pandemic: A Renewed Agenda for FTAAP โดย APEC Policy Support Unit ให้ข้อเสนอแนะโดยคร่าวว่า APEC ควรเร่งขับเคลื่อน FTAAP โดยเร็ว

             รายงานยังชี้อีกว่า FTAAP ควรมีการทบทวนเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นอุบัติใหม่ในบริบทการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ อุปสรรคของการเคลื่อนย้ายสินค้าที่จำเป็นและเกี่ยวกับโควิด-19 (เช่น หน้ากากอนามัย อาหาร วัคซีน และอุปกรณ์ทางการแพทย์) การค้าดิจิทัล อุปสรรคในภาคการขนส่ง ข้อจำกัดด้านกฎหมายทางการค้า และความโปร่งใสทางการค้า

ในการประชุม APEC 2022 นี้ FTAAP ได้เป็นวาระหารือในหลากหลายเวที ได้แก่ 1) การประชุม APEC Ministers Responsible for Trade Meeting (MRT) ในเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อสรุปว่า ควรมีการผลักดัน FTAAP ต่อไป 2) การประชุม Senior Officials’ Meeting (SOM) ครั้งที่ 3 ในเดือนสิงหาคม 2565 ได้มีการหารือแผนการขับเคลื่อน FTAAP ในระยะยาว หรือ FTAAP multi-year work plan ซึ่งถือเป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญ และ 3) การประชุม APEC Ministerial Meeting ในเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้ จะมีการสรุปภาพรวมของงาน APEC 2022 ซึ่งรวมถึงประเด็น FTAAP

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีกรอบความร่วมมือทางการค้าจำนวนมาก FTAAP ก็อาจยังมีความสำคัญในแง่ของการเปิดโอกาสในการสร้างฐานการผลิตข้ามประเทศในพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นด้วยต้นทุนที่ไม่แพง เป็นที่น่าจับตามองว่า ผลสรุปทางการของการประชุม APEC 2022 ในประเด็น FTAAP จะปรากฏเป็นเช่นไร

ผู้เขียน
อรณัฐ บุปผเวส
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 35 ฉบับที่ 12211 วันพุธที่ 21 กันยายน 2565
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 1721 facebook twitter mail
Top