เกี่ยวกับเอกสาร
แม้สภาวะข้าวยากหมากแพงที่เกิดขึ้นทั่วโลกซึ่งเป็นผลกระทบจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่องมาถึงและความตึงเครียดทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นทั่วโลกจากกรณีรัสเซีย-ยูเครน ประเทศผู้ผลิตพลังงานเชื้อเพลิงและธัญพืชรายใหญ่ของโลกจะคลี่คลายลงจากการปรับตัวของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) และกลไกตลาดซึ่งเริ่มส่งสัญญาณในทางบวกมากขึ้น
สอดคล้องกับการประเมินดัชนีราคาอาหารโลก (FAO Food Price Index – FPPI) ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาพบว่าดัชนีราคาอาหารโลกปรับตัวลง 1.9% จากเดือนกรกฎาคม ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 จากเดือนเมษายนที่ผ่านมาแต่ยังคงสูงกว่าปีก่อนถึง 7.9%
ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ประเมินว่าในปีหน้าอัตราเงินเฟ้อของอาเซียนจะเพิ่มสูงขึ้นจาก 3.1% เป็น 3.4% ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกขึ้นอยู่กับตัวแปรที่สำคัญ 3 ประการ คือ การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ราคาอาหาร และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน อย่างไรก็ตาม นอกจากปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อแล้ว อีกหนึ่งตัวแปรแทรกซ้อนที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารที่ต้องจับตามองคือ ภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา หลายประเทศในอาเซียนต้องเผชิญกับภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุทกภัยและวาตภัยที่เกิดขึ้นแทบทุกประเทศในอาเซียนซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญต่อภาคเกษตรกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิตทางการเกษตร และส่งผลกระทบต่อราคาและความมั่นคงทางอาหารในที่สุด
อาเซียนได้มีความร่วมมือสร้างมาตรการรับมือกับภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความมั่นคงทางอาหาร เพื่อรักษาเสถียรภาพทางอาหารและเป็นช่องทางดูดซับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการวิกฤติการณ์การค้าระหว่างประเทศ โดยอาเซียนได้ริเริ่มจัดทำกรอบนโยบายการบูรณาการความมั่นคงด้านอาหาร (ASEAN INTEGRATED FOOD SECURITY FRAMEWORK: AIFS) ตั้งแต่ปี 2552 และจัดทำแผนกลยุทธ์ด้านความมั่นคงทางอาหารของอาเซียน (SPA-FS) ปี 2564-2568
กรอบนโยบาย AIFS มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตอาหาร ลดความเสียหายหลังการเก็บเกี่ยว ส่งเสริมการเข้าถึงตลาดและการค้าสินค้าเกษตร รวมถึงปัจจัยการผลิต สร้างเสถียรภาพด้านอาหาร และการจัดการเพื่อบรรเทาความขาดแคลนอาหารในกรณีฉุกเฉินในระดับภูมิภาค
สะท้อนให้เห็นว่าอาเซียนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรและอาหารในภูมิภาคมาระยะหนึ่งแล้ว สืบเนื่องจากสัญญาณเตือนถึงความไร้เสถียรภาพทางการค้าระหว่างประเทศและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ
แต่ปัจจุบันความเสี่ยงจากเสถียรภาพทางการค้าระหว่างประเทศและภัยพิบัติมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันและถี่ยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาอาเซียนยังคงมีอัตราพึ่งพิงการนำเข้าสินค้าจากนอกภูมิภาคค่อนข้างสูง ดังปรากฏผลกระทบจากมาตรการระงับการขนส่งสินค้าข้ามแดนในช่วงการระบาดของโควิด-19 และการขาดแคลนพลังงานตลอดจนวัตถุดิบการในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอาหารจากกรณีรัสเซีย-ยูเครน
เพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นจึงเป็นโจทย์สำคัญสำหรับอาเซียน ในการเร่งผลักดันกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพในการร้อยเรียงห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรและอุปโภคบริโภคระหว่างประเทศสมาชิกเข้าหากันมากขึ้น เพื่อให้อาเซียนสามารถกำหนดและควบคุมราคาสินค้าเกษตรและอาหารร่วมกันในภูมิภาคและกระจายความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศ รวมถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ผู้เขียน
กอปร์ธรรม นีละไพจิตร
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 35 ฉบับที่ 12206 วันพุธที่ 14 กันยายน 2565
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”