เกี่ยวกับเอกสาร
การระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งให้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทต่อการค้าและการผลิตมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีอิทธิพลต่อการวิถีการใช้ชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มเป็นอย่างมาก ITD ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง การพัฒนาการค้าระบบดิจิทัลระหว่างไทยและกลุ่มประเทศ CLMV ผลการเก็บข้อมูลในส่วนของกัมพูชาพบว่าการค้าระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในกัมพูชาเติบโตสูงถึง 15 % ต่อปี โดยปี 2021 มีมูลค่าตลาดประมาณ 32,000 ล้านบาท ได้รับอิทธิพลมาจากการขยายตัวของการใช้งานอินเทอร์เน็ต การพัฒนาการของเทคโนโลยี และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้ประชาชนชาวกัมพูชาเปลี่ยนแปลงวิถีการจับจ่ายใช้สอย
รัฐบาลกัมพูชาให้ความสำคัญกับการเตรียมการเพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยได้รับความช่วยเหลือด้านวิชาการจากหน่วยงานระหว่างประเทศ กัมพูชายังให้ความสำคัญกับความตกลงระหว่างประเทศทั้งในมิติความตกลงอาเซียน ความตกลง RCEP ความตกลงการค้าเสรีที่กัมพูชาลงนามกับเกาหลีใต้และจีน
รัฐบาลกัมพูชาได้ออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศเพื่อกำกับดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคทั้งที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูล กฎหมายการแข่งขัน กฎหมายป้องกันอาชญากรไซเบอร์ ซึ่งชี้ให้เห็นความก้าวหน้าของบทบาทรัฐบาลในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
ในมิติด้านภูมิทัศน์ด้านดิจิทัลในกัมพูชา การใช้งานอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ของชาวกัมพูชาอยู่ในระดับสูง โดยจำนวนผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ของกัมพูชามีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด สัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในกัมพูชาเพิ่มขึ้น 3.1 % ในปี 2011 เป็น 78.8 % ของประชากรทั้งประเทศในปี 2022 โดยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตรวมประมาณ 13.44 ล้านราย จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ 17.06 ล้านคน ประชาชนกัมพูชามีบัญชีสื่อออนไลน์รวม 12.6 ล้านบัญชีหรือประมาณ 11.6 ล้านบัญชี โดยมี Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุด ส่งผลให้ Facebook มีศักยภาพอย่างมากในการทำตลาดสินค้าออนไลน์ชาวกัมพูชา
มูลค่าตลาดการค้าระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของกัมพูชาคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง สินค้าที่นิยมซื้อขายผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าแฟชั่น สินค้าเกี่ยวกับความงามและสุขภาพ การพัฒนาแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ในกัมพูชาดำเนินการโดยภาคเอกชนเป็นหลัก แต่ก็มีการดำเนินงานความร่วมมือโดยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ
รูปแบบธุรกิจแพลตฟอร์มมีความหลากหลายค่อนข้างมากทั้งที่เป็นแบบ BTB, BTC และ CTC และรูปแบบการค้าขายใหม่ ๆ ส่วนใหญ่เป็นการให้บริการของแพลตฟอร์มย่อยและยังไม่มีผู้นำตลาดที่ชัดเจน เน้นการเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มที่แตกต่างกัน เช่น แพลตฟอร์มที่เจาะกลุ่มลูกค้า SMEs กลุ่มลูกค้าสินค้าแฟชั่น กลุ่มลูกค้าที่ต้องการสินค้านำเข้า กลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ค้าส่งค้าปลีก
ประชาชนชาวกัมพูชาส่วนใหญ่นิยมใช้เงินสด และจ่ายเงินเมื่อได้รับสินค้าแล้ว การเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมไร้เงินสดยังเป็นไปค่อนข้างล่าช้าเนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในระบบธนาคารกลาง แม้จะมีบัญชีเงินฝากในระบบธนาคารราว 12.7 ล้านบัญชี แต่มีเพียง 56 % เท่านั้นที่เป็นบัญชีของประชาชนทั่วไป โดยที่มีผู้ที่เป็นเจ้าของบัญชีธนาคารมากกว่า 1 บัญชี เมื่อรวมกับจำนวนบัตรเครดิตที่มีอยู่ราว 4 ล้านใบ จึงถือว่ามีอัตราการเข้าถึงบริการธนาคารที่ต่ำ
ธนาคารกลางกัมพูชามีนโยบายและมาตรการในการส่งเสริมและพัฒนาระบบชำระเงินให้สอดคล้องกับดิจิทัลมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีแผนงานความร่วมมือกับธนาคารกลางประเทศเพื่อนบ้านชัดเจนเพื่อรองรับการทำการค้าและอำนวยความสะดวกให้แก่แรงงานในต่างประเทศ ในมิติด้านระบบโลจิสติกส์และการจัดส่งสินค้าอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสินค้าดั้งเดิมสู่การเข้ามาของผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นระบบมากขึ้น
ระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กัมพูชาพัฒนาอย่างรวดเร็ว สินค้าไทยจึงมีโอกาสที่จะเข้าถึงผู้บริโภคชาวกัมพูชาได้มากขึ้น ตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กัมพูชาจึงเป็นตลาดที่นักธุรกิจไทยและผู้ประกอบการ SMEs ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
ผู้เขียน
วิมล ปั้นคง
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12241 วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน 2565
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”