บทความวิชาการ
view 693 facebook twitter mail

อาเซียนรุกอุตสาหกรรม ‘Food Tech

เกี่ยวกับเอกสาร

ภายใต้บริบทโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โลกกำลังเผชิญความท้าทายสำคัญ ได้แก่ พฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องสุขอนามัยและสุขภาพมากขึ้น จำนวนประชากรที่จะเติบโตอย่างรวดเร็วในอนาคตซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะอาหารขาดแคลนภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และความกังวลต่อวิกฤติสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นผลจากกระบวนการผลิตต่าง ๆ (รวมทั้งอาหาร) ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง รวมทั้งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายในปี 2030

ฟู้ดเทค (Food Tech) คือนวัตกรรมหนึ่งที่จะช่วยก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดต่าง ๆ เนื่องจากฟู้ดเทคจะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ในหลายขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทานอาหาร ไม่ว่าจะเป็น การเลือกวัตถุดิบ การแปรรูป และการขนส่ง เปิดโอกาสให้มีการพัฒนาอาหารใหม่จากวัตถุดิบที่ไม่เคยใช้ (ซึ่งอาจช่วยแก้ปัญหาอาหารขาดแคลนในอนาคต) การแปรรูปอาหารที่มีห่วงโซ่อุปทานสั้นลงหรืออยู่แค่ในห้องแลป (ซึ่งจะควบคุมสุขอนามัยและโภชนาการได้ง่ายขึ้น และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง) และการขนส่งที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ

ประเทศในภูมิภาคอาเซียนหลายประเทศมีจุดเด่นด้านการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายและมีภาคเกษตรกรรมเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจ จึงอาจมีข้อได้เปรียบในการพัฒนาอุตสาหกรรมฟู้ดเทค รายงานของ AgFunder ในปี 2020 กล่าวว่า ภูมิภาคอาเซียนตื่นตัวต่ออุตสาหกรรมฟู้ดเทอย่างเห็นได้ชัด โดยมีการลงทุนในอุตสาหกรรมฟู้ดเทครวม 423 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2019 ซึ่งเพิ่มขึ้น 33 % จากปีก่อนหน้า และสองไตรมาสแรกของปี 2020 ยังมีการลงทุนรวม 350 ล้านเหรียญสหรัฐ

รายงานของ Deloitte และ Creationsforu ในปี 2020 และ UOB ในปี 2019 กล่าวด้วยว่า ภูมิภาคอาเซียนมีสตาร์ทอัพฟู้ดเทคประเภทต่าง ๆ ที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ ประการแรก ฟู้ดเทคด้าน Plant-based Meat ซึ่งผลิตเนื้อ (เทียม) จากผักผลไม้ มีตัวอย่างสตาร์ทอัพที่น่าสนใจคือ Green Rebel (อินโดนีเซีย) ผลิตเนื้อเทียมจากถั่วลูกไก่ เห็ด และถั่วเหลือง Next Gen Foods (สิงคโปร์) ผลิตเนื้อไก่เทียมและ Karana (สิงคโปร์) ผลิตหมูเทียมจากขนุน

ประการที่สอง ฟู้ดเทคด้าน Functional Food หรืออาหารที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง มีตัวอย่างสตาร์ทอัพที่น่าสนใจคือ Cricket one (เวียดนาม) ผลิตอาหารโปรตีนสูงจากจิ้งหรีด Ento (มาเลเซีย) ผลิตกราโนล่า คุกกี้และเค้กที่ผสมโปรตีนจากจิ้งหรีด และ Jamulogy (ไทย) ผลิตเครื่องดื่มสุขภาพจากสมุนไพร

ประการที่สาม ฟู้ดเทคด้าน 3D food Printing ซึ่งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการควบคุมโภชนาการของอาหารและการขึ้นรูปอาหารเป็นรูปทรงต่าง ๆ ได้เฉพาะเจาะจงตามความต้องการของลูกค้ารายคน (ซึ่งช่วยลดการผลิตอาหารเกินความจำเป็น) มีตัวอย่างสตาร์ทอัพที่น่าสนใจคือ Anrich3D (สิงคโปร์)

ประการที่สี่ ฟู้ดเทคด้าน Urban Farming กล่าวถึงการปลูกพืชผักผลไม้ในพื้นที่ที่จำกัด เช่น บนตึกสูง มีตัวอย่างสตาร์ทอัพที่น่าสนใจคือ Comcrops และ Sky Greens จากประเทศสิงคโปร์

ประการที่ห้า ฟู้ดเทคด้าน Food Delivery ซึ่งให้บริการการขนส่งอาหาร มีตัวอย่างสตาร์ทอัพที่คุ้นชื่ออยู่แล้วคือ Grab Food (มาเลเซีย) และ Gojek (อินโดนีเซีย)

นอกจากสตาร์ทอัพ ภูมิภาคอาเซียนยังมีศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพต่าง ๆ เช่น Space-F ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพด้าน Food Tech โดยเฉพาะรายแรกของโลก ก่อตั้งโดยความร่วมมือระหว่าง Thai Union NIA และมหาวิทยาลัยมหิดล

อุตสาหกรรมฟู้ดเทคถือเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะยาว เนื่องจากรูปแบบธุรกิจได้ตระหนักถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในระดับโลก ประเทศในภูมิภาคอาเซียนต่าง ๆ ถือว่ามีศักยภาพสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมฟู้ดเทคนี้

ผู้เขียน
อรณัฐ บุปผเวส
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 35 ฉบับที่ 12186 วันพุธที่ 17 สิงหาคม 2565
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 693 facebook twitter mail
Top