บทความวิชาการ
view 4417 facebook twitter mail

โอกาสอาเซียนจากติมอร์-เลสเต

เกี่ยวกับเอกสาร

หนึ่งผลสรุปจากการประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ 40 และ 41 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา คือประเทศสมาชิกอาเซียนได้ยอมรับประเทศติมอร์-เลสเตเป็นประเทศสมาชิกลำดับที่ 11 โดยหลักการ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของกรอบความร่วมมืออาเซียนในการสร้างการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและฐานตลาดเดียวในภูมิภาค รวมทั้งการสร้างอำนาจต่อรองต่อประเทศและภูมิภาคอื่น

ประเทศติมอร์-เลสเต หรือสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ตั้งอยู่บนเกาะติมอร์ ซึ่งอยู่บริเวณปลายหมู่เกาะซุนดาน้อยของประเทศอินโดนีเซีย ติมอร์-เลสเตเดิมอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอินโดนีเซีย ต่อมาได้แยกตัวเป็นอิสระและได้รับเอกราชจากประเทศอินโดนีเซียในปี 2545 ธนาคารโลกรายงานว่า ในปี 2564 ประเทศติมอร์-เลสเตมีขนาดเศรษฐกิจรวม 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ประชากรมีรายได้ต่อหัว (GDP per capita) ประมาณ 1,295 ดอลลาร์สหรัฐ และมีประชากรทั้งสิ้นประมาณ 1.3 ล้านคน โดยประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์

ประเทศติมอร์-เลสเตได้แสดงความประสงค์ขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกกรอบความร่วมมืออาเซียนตั้งแต่ปี 2554 และได้เข้ารับการประเมินความพร้อมมาหลายครั้ง หรือเรียกทางการว่า การค้นหาข้อเท็จจริง (Fact Finding Mission) ทั้งในมิติการเมืองและความมั่นคง สังคมและวัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ตาม 3 เสาหลักของกรอบความร่วมมืออาเซียน

ข้อสรุปที่ประเทศสมาชิกอาเซียนยอมรับติมอร์-เลสเตเป็นประเทศสมาชิกลำดับที่ 11 โดยหลักการ ส่งผลให้ติมอร์-เลสเตได้สถานะผู้สังเกตการณ์ในทุกเวทีการประชุมของอาเซียนรวมทั้งเวทีการประชุมสุดยอดอาเซียน อย่างไรก็ตามประเทศติมอร์-เลสเตจะต้องดำเนินตามโร้ดแมปที่อาเซียนวางไว้ จึงจะเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนได้อย่างสมบูรณ์ในปีหน้า ทั้งนี้ติมอร์-เลสเตได้สิทธิเข้าถึงการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกอาเซียนต่าง ๆ โดยเฉพาะการฝึกอบรมบุคลากร เพื่อเสริมสร้างความพร้อมในการเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนและบรรลุเป้าหมายโร้ดแมป

โอกาสของอาเซียนจากการต้อนรับประเทศติมอร์-เลสเตเป็นประเทศสมาชิกคือ การเข้าถึงแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ครบทั้ง 11 ประเทศเพื่อส่งเสริมเป้าหมายการสร้างฐานการผลิตเดียว และการรวมพื้นที่จุดยุทธศาสตร์ที่มีผลต่อประเด็นการเมืองในระดับสากล โดยติมอร์-เลสเตตั้งอยู่ใกล้ออสเตรเลียและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่หลายประเทศมหาอำนาจจับตามอง

ในขณะเดียวกันโอกาสของติมอร์-เลสเตจากการเข้าร่วมกรอบความร่วมมืออาเซียนมีหลายประการ เช่น โอกาสในการเข้าถึงตลาดอาเซียน ซึ่งมีประชากร 683 ล้านคน และการได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน รวมทั้ง ASEAN+1 ASEAN+3 และ RCEP หากติมอร์-เลสเตไม่ได้เข้าร่วมกรอบความร่วมมืออาเซียนในเร็ววันนี้ เป็นไปได้ว่าติมอร์-เลสเตจะเสียโอกาสด้านการพัฒนาไปหลายประการ

การต้อนรับประเทศติมอร์-เลสเตเข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 11 ถือเป็นความก้าวหน้าสำคัญต่อการรวบรวม 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และการสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนใหม่ ๆ ภายในภูมิภาค ซึ่งอาจไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ เป็นที่น่าจับตาว่า ประเทศติมอร์-เลสเตจะสามารถบรรลุเป้าหมายโร้ดแมปและเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนได้อย่างสมบูรณ์ในปีหน้าหรือไม่

ผู้เขียน
อรณัฐ บุปผเวส
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12261 วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน 2565
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 4417 facebook twitter mail
Top