เกี่ยวกับเอกสาร
แนวโน้มการลงทุน ‘อาเซียน’
ASEAN Investment Report 2022 รายงานว่าหลังการระบาดของโควิด-19 มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของอาเซียนเพิ่มขึ้นถึงกว่า 42% จากปี 2563 ส่งผลให้อาเซียนกลายเป็นประเทศผู้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากเป็นอันดับที่ 2 ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (รองจากจีน)
โดยทิศทางการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของอาเซียนยังทุ่มลงไปที่ภาคการผลิตเป็นหลัก โดยมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของอาเซียนเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขึ้นถึง 134% จากปี 2564 ซึ่งส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า พลังงาน ก๊าซ สารสนเทศและการสื่อสาร และกว่า 68% เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมสีเขียว
ประเทศผู้ลงทุนในอาเซียน 5 อันดับแรก ได้แก่อันดับที่ 1 สหรัฐฯ (เพิ่มขึ้นกว่า 41% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมไฟฟ้า อุตสาหกรรมชีวการแพทย์ และเวชภัณฑ์) อันดับที่ 2 จีน (เพิ่มขึ้น 96% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และเศรษฐกิจดิจิทัล) อันดับที่ 3 ญี่ปุ่น (ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและยานยนต์)
จากการประเมินของอาเซียนคาดว่ามูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของอาเซียนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพดึงดูดการลงทุนได้เพิ่มขึ้นคือ ยานยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า และเศรษฐกิจดิจิทัล โดยทั้ง 3 อุตสาหกรรมนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนการลงทุนในอาเซียนให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทิศทางการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมการผลิตจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เป็นความหวังสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอาเซียน แต่การกำหนดนโยบายและมาตรการด้านการลงทุนและอุตสาหกรรมภายในแต่ละประเทศของอาเซียนจำเป็นต้องมีการปรับตัวและสอดประสานกับสถานการณ์ทิศทางการค้าระหว่างประเทศด้วย
เป็นที่ทราบกันดีว่าการผลิตวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลาง (Intermediate Inputs) เป็นกระบวนการที่มีส่วนสำคัญในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ส่งผลให้กว่ากึ่งหนึ่งของการค้าระหว่างประเทศทั่วโลกเป็นการนำเข้าส่งออกวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลาง โดยประเทศที่นำเข้าสินค้าเหล่านี้สามารถพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในกระบวนการผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยี การเพิ่มผลิตภาพ และการเพิ่มศักยภาพในการส่งออก
กรณีศึกษาอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่สามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมจากทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าขั้นสูง ยานยนต์ และอุตสาหกรรมสีเขียว โดยอินโดนีเซียนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลางกว่า 40% จากญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ และฮ่องกง ส่งผลให้อินโดนีเซียสามารถเข้าร่วมห่วงโซ่การผลิตของภูมิภาคได้อย่างเต็มตัว แต่ในทางกลับกัน การกำหนดนโยบายภายในประเทศของอินโดนีเซียมีแนวโน้มที่จะมีการปกป้องทางการค้าเพิ่มขึ้น
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหลังการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลอินโดนีเซียเริ่มให้ความสำคัญกับการกำหนดมาตรการปกป้องทางการค้ามากขึ้น โดยมุ่งเน้นการเพิ่มวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางจากภายในประเทศ ( Local Content) เข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้การผลิตในประเทศ (Domestic value added) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและเวชภัณฑ์ โดยนโยบายเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มสัดส่วนของวัตถุดิบภายในประเทศในแต่ละผลิตภัณฑ์ ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียได้เริ่มดำเนินนโยบายนี้ตั้งแต่ช่วงการผลิตวัคซีนโควิด-19
ผลจากการกำหนดนโยบายเพิ่มวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลางที่มาจากภายในประเทศในกระบวนการผลิตนั้น รัฐบาลอินโดนีเซียชี้ให้เห็นว่าเป็นมาตรการที่ช่วยสร้างงาน อาชีพ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามในทางกลับกันมาตรการหรือนโยบายเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ และสร้างความตึงเครียดให้กับการเจรจาความตกลงการค้าเสรีเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้เวียดนามซึ่งไม่มีมาตรการด้านสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศมีความได้เปรียบมากกว่า
นำมาซึ่งการถกเถียงถึงการรักษาสมดุลระหว่างการดึงดูดการลงทุนและการกระตุ้นการส่งออกกับการปกป้องทางการค้าโดยใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นมากขึ้นเพื่อสร้างการจ้างงานภายในประเทศ และเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดทิศทางการแข่งขันของอาเซียนในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19
———————————————
Tag: Trend, Investment, ASEAN
ผู้เขียน
กอปร์ธรรม นีละไพจิตร
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12231 วันพุธที่ 19 ตุลาคม 2565
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Insight ASEAN”