เกี่ยวกับเอกสาร
ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-อียู สมัยพิเศษ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ผู้นำจากประเทศสมาชิกอาเซียนและสหภาพยุโรปได้หารือแนวทางความร่วมมือด้านต่าง ๆ โดยหนึ่งในประเด็นความร่วมมือคือ การส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable)
สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 3 ของอาเซียน และลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนสูงสุดลำดับที่ 2 การประชุมสุดยอดอาเซียน-อียูถือเป็นก้าวสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ ซึ่งมีผลสำคัญต่อการส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างสองภูมิภาค
การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-อียู สมัยพิเศษนี้จัดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป โดยมีผู้นำจากทุกประเทศสมาชิกอาเซียน ยกเว้นประเทศเมียนมา โดยมีเลขาธิการอาเซียน คณะกรรมาธิการยุโรป และผู้นำประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศเข้าร่วมการประชุม
ทั้งหมดได้หารือความร่วมมือด้านต่าง ๆ เช่น ความมั่นคง การพัฒนาที่ยั่งยืน การฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 และการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ
แถลงการณ์ร่วมผู้นำของการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป (Joint Leaders’ Statement ASEAN-EU Commemorative Summit 2022) ซึ่งเป็นผลสำเร็จของการประชุมระบุว่า ประเด็นด้านการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและการค้า มีสาระสำคัญ 4 ประการ ได้แก่
ประการแรก อาเซียนและอียูจะร่วมกันส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงประเด็นการค้าที่ช่วยลดสภาวะโลกร้อน การค้าที่ใช้พลังงานสะอาด เศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน การค้าที่คำนึงถึงขยะในทะเล และการค้าที่ตระหนักถึงการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล
ประการที่สอง อาเซียนและอียูจะส่งเสริมการค้าที่เสรี เปิดกว้าง ไม่กีดกัน และโปร่งใส โดยจะดำเนินการค้าให้สอดคล้องกับกฎระเบียบการค้าโลกของ WTO เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางการค้าและการลงทุนที่ดีในระดับโลก นอกจากนี้จะร่วมกันส่งเสริมการลงทุนที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงและร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม
ประการที่สาม อาเซียนและสหภาพยุโรปจะเปิดโอกาสทางการค้าร่วมกัน โดยจะส่งเสริมการเจรจาการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปกับแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน นอกจากนี้มีการตั้งเป้าหมายระยะยาวร่วมกันคือ การเจรจาการค้าเสรีอาเซียน-อียู หรือ ASEAN-EU FTA ให้สำเร็จลุล่วง
ทั้งนี้อาเซียนและสหภาพยุโรปได้ยุติการเจรจา ASEAN-EU FTA ไปตั้งแต่ปี 2552 และในปัจจุบันมีเพียงเวียดนามและสิงคโปร์ที่ได้ดำเนินข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกับสหภาพยุโรปแล้ว ที่เรียกว่า EVFTA และ EUSFTA ตามลำดับ
ประการสุดท้าย อาเซียนและสหภาพยุโรปจะให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ทุกกลุ่ม ประกอบด้วย ภาคเอกชน กลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้ประกอบการหญิง ภาคประชาสังคม และผู้ประกอบการในภาคดิจิทัล โดยจะจัดเวทีหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนี้ผ่านกลไกการดำเนินงานที่อาเซียนและสหภาพยุโรปมีอยู่เดิม
นอกเหนือจากคำแถลงการณ์ร่วม สหภาพยุโรปยังได้ประกาศจะลงทุนในภูมิภาคอาเซียนมูลค่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2570 เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการสร้างความเชื่อมโยงกับภูมิภาคอาเซียน
ผู้เขียน
อรณัฐ บุปผเวส
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12286 วันพุธที่ 4 มกราคม 2566
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Insight ASEAN”