บทความวิชาการ
view 1086 facebook twitter mail

บทความเรื่อง เศรษฐกิจสปป.ลาว : การฟื้นตัวที่มีความเสี่ยง

เกี่ยวกับเอกสาร

สปป.ลาวเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยเนื่องจากมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทั้งด้านสังคมและวัฒนธรรมซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการค้าสินค้าและบริการและการลงทุนระหว่างประเทศ แม้ว่าสปป.ลาวจะมีขนาดเศรษฐกิจขนาดเล็ก แต่ก็ถือได้ว่ามีความสำคัญเพราะมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจไทยสูงทั้งด้านการท่องเที่ยวและการค้าชายแดน

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียได้ออกรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียและเผยแพร่เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2565 โดยกล่าวถึงเศรษฐกิจสปป.ลาวว่า กำลังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จากผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 โดยมีแรงส่งจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าเกษตร การเพิ่มขึ้นของการผลิตพลังงานไฟฟ้า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

แต่มีความเสี่ยงจากการปรับสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ และความเสี่ยงจากแรงกดดันของภาวะหนี้ภาครัฐที่อยู่ในระดับสูง ความท้าทายที่สำคัญ คือ การปรับตัวสู่ภาคการผลิตที่ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ปี 2564 เศรษฐกิจสปป.ลาวขยายตัว 2.3 % และคาดว่าปี 2565 จะขยายตัว 3.4 % และปรับเพิ่มขี้นเป็น 3.7 % ในปี 2566 ภาคการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำและการผลิตแร่ธาตุจากธรรมชาติ

ขณะที่การผลิตพืชเศรษฐกิจทั้งข้าว กล้วย มันสำปะหลังและอ้อยฟื้นตัวต่อเนื่อง เพราะได้รับผลกระทบด้านบวกจากความต้องการจากจีน อย่างไรก็ตามภาคบริการยังคงประสบภาวะซบเซาเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเข้มงวด

การล็อกดาวน์ได้ส่งผลให้ภาคบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการใช้อินเทอร์เน็ตขยายตัว 15 % ในปี 2564 ปัจจุบันประชาชนสปป.ลาวมีสัดส่วนการใช้โซเซียลมีเดียและอุปกรณ์ดิจิทัล 50 % ของประชากรทั้งหมด สปป.ลาวยังคงมีอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้น โดยปี 2564 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.7 % และคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นถึง 5.3 % ในช่วงปลายปี 2565 เนื่องจากราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นและค่าเงินกีบอ่อนค่าลง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ค่าเงินกีบเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2564 ค่าเงินกีบอ่อนค่าลง 7.6 % เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

สปป.ลาวประสบกับภาวะขาดแคลนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามดุลบัญชีเดินสะพัดของสปป.ลาวปรับตัวดีขึ้นจากภาวะขาดดุล 5.4 % ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปี 2563 เป็น 5 % ในปี 2564 เนื่องจากความต้องการสินค้าแร่ธาตุและพลังงาน ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของสปป.ลาวปรับตัวดีขึ้น การไหลเข้าของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 ซึ่งจะส่งผลให้ภาคการส่งออกสินค้าปรับตัวดีขึ้นในอนาคต

หนี้ภาครัฐและหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันอยู่ที่ 78.8 % ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ทั้งนี้แนวโน้มการขยายตัวทางเศษฐกิจที่ไม่สดใสและค่าเงินกีบที่อ่อนค่า จะส่งผลให้ตัวเลขหนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้น สปป.ลาวมีภาระหนี้สาธารณะที่ต้องใช้คืนเฉลี่ยปีละ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือประมาณ 7 % ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ

ทั้งนี้เมื่อสิ้นปี 2564 จำนวนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของสปป.ลาวมียอดรวม 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 2.1 เดือนของมูลค่าการนำเข้า ซึ่งถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานระหว่างประเทศ

การเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวของสปป.ลาวเพื่อนำรายได้เข้าประเทศ จึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสปป.ลาว ทั้งนี้ความเสี่ยงสำคัญ คือ การปรับตัวสูงขึ้นของราคาพลังงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจสปป.ลาวในหลายมิติ

ผู้เขียน
วิมล ปั้นคง
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : การเงิน-ลงทุน
ปีที่ 35 ฉบับที่ 12136 วันพุธที่ 8 มิถุนายน 2565
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 1086 facebook twitter mail
Top