บทความวิชาการ
view 4069 facebook twitter mail

ทิศทางการพัฒนา ‘อาเซียน’ ในบริบทโลกใหม่

เกี่ยวกับเอกสาร

สำนักงานเลขาธิการอาเซียนได้เสนอรายงานสรุปความคืบหน้าการบูรณาการทางเศรษฐกิจ เมื่อเดือนกรกฏาคม 2566 รายงานดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงสัญญาณที่ดีในความพยายามฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน รวมทั้งมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในการดำเนินการตามพิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พ.ศ. 2568

แม้ว่าอาเซียนเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลาย แต่ได้พยายามดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงได้มุ่งเน้นพัฒนาการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยเลขาธิการอาเซียนได้เน้นย้ำถึงประเด็นด้านอนาคตของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อเป็นแนวทางให้อาเซียนก้าวไปข้างหน้าสู่การบรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการเติบโตและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค

อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีเอกลักษณ์เฉพาะและมีแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ดีมากขึ้น ปัจจุบันอาเซียนมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก โดยปี 2565 มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศรวมมากกว่า 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 3.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก ทั้งนี้คาดว่าเศรษฐกิจอาเซียนจะเติบโตถึง 4.7% ในปี 2566 และเพิ่มเป็น 5% ในปี 2567  ภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มที่จะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ภายในปี 2573 ตามหลังเพียงสหรัฐอเมริกา จีน และอินเดีย

อาเซียนให้ความสำคัญกับการดำรงไว้ซึ่งสันติภาพในภูมิภาค ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของการบูรณาการทางเศรษฐกิจ และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาคมเศรษฐกิจโลก โดยมุ่งเน้นดำเนินการตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อย่างมีประสิทธิผล และยกระดับข้อตกลงการค้าเสรีทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของอาเซียนยังคงเติบโต โดยเฉพาะในปี 2564 อาเซียนดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศรวม 197.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  ส่งผลให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นแหล่งรองรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก และในปี 2565 มีมูลค่ามากถึง 224.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอาเซียนคือ ทรัพยากรมนุษย์  ปัจจุบันอาเซียนมีประชากรทั้งหมดในภูมิภาคประมาณ 670 ล้านคน โดย 60% มีอายุต่ำกว่า 35 ปี ซึ่งเป็นกำลังแรงงานสำคัญ และคาดว่าภายในปี 2573 จะเพิ่มขนาดเป็นสองเท่า การพัฒนาคนจึงมีความสำคัญอย่างมาก รวมถึงผู้หญิง เยาวชน วิสาหกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก และขนาดกลาง (MSMEs) และกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ ด้วย

ผลจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก อาเซียนมีข้อได้เปรียบที่สามารถนำมาสร้างแรงจูงใจในการดึงดูดการลงทุน  นอกจากนั้นอาเซียนยังมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและมีแหล่งท่องเที่ยวสวยงาม  ดังนั้นอาเซียนจึงมุ่งเน้นการลงทุนสีเขียว พลังงานหมุนเวียนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ในเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา อาเซียนได้เปิดตัวกรอบการทำงานเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในยุคหลังโควิด-19  เพื่อเป็นแนวทางวาระการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในภูมิภาค นอกจากนี้อาเซียนยังเป็นแหล่งการผลิตที่สำคัญของโลก โดยตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ระดับโลก และให้ความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล

การส่งเสริมสภาพแวดล้อมการลงทุนที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออาเซียน  รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลตามแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ. 2025  การเร่งดำเนินการศึกษากรอบความตกลงด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน (DEFA) รวมถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ทั้งเศรษฐกิจหมุนเวียน การมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) การริเริ่มนโยบายพัฒนาการลงทุนสีเขียวและการพัฒนาระบบนิเวศทางธุรกิจอย่างยั่งยืน

ผู้เขียน
น้ำผึ้ง ทัศนัยพิทักษ์กุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12456 วันพุธที่ 30 สิงหาคม 2566
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 4069 facebook twitter mail
Top