บทความวิชาการ
view 1621 facebook twitter mail

ห่วงโซ่มูลค่าโลกหลังโควิด-19

เกี่ยวกับเอกสาร

การระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการชะงักในระบบเศรษฐกิจทำให้ห่วงโซ่อุปทานการผลิตทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไป การปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปนี้ หลายประเทศจึงมีการใช้มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measure: NTMs) เพื่อป้องกันการระบาดของโรค ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพในการผลิตและการค้า หลายประเทศเลือกเข้าร่วมห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chains: GVCs)

แนวคิด GVCs คือ การกระจายกิจกรรมทางการผลิตระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมในการสร้างมูลค่าซึ่งสามารถส่งผลให้เกิดระบบการผลิตและเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศสมาชิกของอาเซียน

ตัวอย่างประเทศที่เข้าร่วม GVCs คือ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตโดยไม่พึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง แต่เน้นการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าที่มีการกระจายกิจกรรมการผลิตไปยังประเทศอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ การเข้าร่วม GVCs ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นต่อการตอบสนองความต้องการของตลาด และช่วยเพิ่มมูลค่าในกิจกรรมการผลิต

            World Bank (2023) ได้นำเสนอ Policy Research Working Papers ซึ่งเป็นการศึกษาบริษัทที่มีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลกหลังจากสถานการณ์โควิด-19 โดยใช้อินโดนีเซียเป็นกรณีศึกษา อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียนและเป็นตลาดเกิดใหม่อินโดนีเซียมีการส่งออกวัตถุดิบ ซึ่งนำไปสู่การเข้าร่วมใน GVCs ที่สูงขึ้น แต่การมีส่วนร่วมยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นจึงยังมีการเข้าร่วมอยู่ในระดับต่ำ

            ผลการศึกษาพบว่าในระยะยาว หลังจากการระบาดของโควิด-19 บริษัทที่มีส่วนร่วมใน GVCs มีความยืดหยุ่นมากกว่าบริษัทที่ไม่ได้มีส่วนร่วมใน GVCs การส่งออกมีความยืดหยุ่นมากกว่าการนำเข้า ราคาต่อหน่วยของสินค้าทั้งการส่งออกและการนำเข้าเพิ่มขึ้นหลังจากการแพร่ระบาด รวมถึงราคาต่อหน่วยสินค้าของเกือบทุกบริษัทเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังพบว่ามาตรการ NTMs ยังส่งผลให้ปริมาณการส่งออกและการทำธุรกรรมของบริษัทลดลงด้วย

บริษัทในอินโดนีเซียที่เป็นส่วนหนึ่งของ GVCs สามารถฟื้นตัวได้ดีหลังจากการเกิดวิกฤติ  อย่างไรก็ตามการเข้าร่วม GVCs มีส่วนสนับสนุนการเติบโตค่อนข้างน้อย รัฐบาลจึงควรมีนโยบายที่ส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่อช่วยให้การเข้าร่วม GVCs เพิ่มขึ้น รวมถึงควรมีการจัดการมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีเพื่อให้กระบวนการด้านศุลกากรสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ไทยซึ่งมีสถานะใกล้เคียงกับอินโดนีเซียและต้องเผชิญกับวิกฤติเช่นเดียวกัน ผู้กำหนดนโยบายสามารถนำผลการศึกษานี้มาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจของไทยสามารถสร้างมูลค่าและสามารถเติบโตต่อไปได้ในอนาคตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ทั้งนี้นโยบายที่ไทยควรดำเนินการ คือ การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าและการปรับสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนให้มีการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้น

ผู้เขียน
ณัฐจารีย์ เพ็ชรร่วง
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12436 วันพุธที่ 2 สิงหาคม 2566
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Insight ASEAN”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top