เกี่ยวกับเอกสาร
สถานการณ์ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นวาระร้อนระดับโลก หนึ่งในประเด็นปัญหาสำคัญที่นานาประเทศมุ่งเป้าคือ พลาสติก ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในหลากหลายอุตสาหกรรมและในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ดี พลาสติกกลับถูกใช้แล้วทิ้งในทันที ขณะที่การย่อยสลายพลาสติกต้องใช้เวลานานมาก ทั้งยังเกิดไมโครพลาสติกปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม กลายเป็นปัญหาที่เรียกกันว่ามลพิษพลาสติก
ข้อมูลจาก OECD ระบุว่า ปี 2562 ทั่วโลกมีการผลิตพลาสติกต่อปี 460 ล้านตัน พุ่งขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับ 20 ปีก่อน เช่นเดียวกับขยะพลาสติกที่สูงถึง 353 ล้านตัน แต่ได้รับการรีไซเคิลเพียง 9% เท่านั้น ส่วนประมาณ 19% ถูกเผาในเตาเผา ขณะที่เกือบประมาณ 50% ถูกฝังกลบอย่างถูกสุขาภิบาล และอีกประมาณ 22% ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้องหรือปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม การจัดการขยะพลาสติกอย่างไม่ถูกต้องนี้เป็นสาเหตุสำคัญของการปนเปื้อนไมโครพลาสติก
ปี 2563 จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การใช้พลาสติกทั่วโลกลดลง 2.2% จากปี 2562 แต่พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวเพิ่มขึ้นสูงอย่างมากจากบรรดาอุปกรณ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวขยะพลาสติกก็เพิ่มขึ้นอีกครั้ง ตลอดวงจรชีวิตของพลาสติกผลิตก๊าซเรือนกระจกประมาณ 3.4% ของก๊าชเรือนกระจกทั้งโลก
อาเซียนเป็นภูมิภาคที่ปล่อยพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุด โดยเมื่อปี 2564 ผลการวิจัยที่เผยแพร่ภายใต้ Science Advances ระบุว่า 6 ประเทศอาเซียนปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลติด 10 อันดับแรกของโลก ได้แก่ อันดับที่ 1 ฟิลิปปินส์ 3.6 แสนล้านตัน อันดับที่ 3 มาเลเซีย 7.3 หมื่นล้านตัน อันดับที่ 5 อินโดนีเซีย 5.6 หมื่นล้านตัน อันดับที่ 6 เมียนมา 4 หมื่นล้านตัน อันดับที่ 8 เวียดนาม 2.8 หมื่นล้านตัน และอันดับที่ 10 ไทย 2.3 หมื่นล้านตัน ทั้งนี้นอกจากส่วนที่ผลิตในประเทศอาเซียนยังมีการนำเข้าขยะพลาสติกจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่กลายเป็นมลพิษปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม
อาเซียนเองเล็งเห็นปัญหาดังกล่าวโดยมีการประชุมอาเซียนว่าด้วยการลดขยะในทะเลที่จัดขึ้นในปี 2560 โดยในปี 2562 อาเซียนได้ร่วมกันกำหนดกรอบปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเลและรับรองปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน
ต่อมาในปี 2564 อาเซียนได้ออกแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคอาเซียนสำหรับการขจัดขยะในทะเล (2564-2568) เพื่อกำหนดกลยุทธ์แก้ปัญหาพลาสติกในทะเล ลดการนำเข้าและรั่วไหลของพลาสติก สร้างมูลค่าโดยนำขยะกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงแนวทางการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
ปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนยังมีการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหามลพิษพลาสติก โดยส่วนใหญ่เน้นการลด/เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย รวมถึงให้ความสำคัญกับการจัดการขยะอย่างถูกต้อง
พลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไขด้วยความร่วมมือกันทุกฝ่ายที่หากไม่จัดการให้ถูกต้องแล้ว พลาสติกจะรั่วไหลและปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก สร้างมลพิษและยังกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ด้วยเช่นกัน การจัดการพลาสติกจึงต้องเป็นวาระเร่งด่วนระดับโลกที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มงวดเพื่อให้เห็นผลอย่างแท้จริง
ผู้เขียน
ภัชชา ธำรงอาจริยกุล (นักวิจัย)
ยุพารัตน์ แดงกุลวานิช (ผู้ช่วยนักวิจัย)
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12416 วันพุธที่ 5 กรกฎาคม 2566
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”