บทความวิชาการ
view 1081 facebook twitter mail

สปป.ลาว เร่งพัฒนาห่วงโซ่คุณค่า ‘ข้าวโพด’

เกี่ยวกับเอกสาร

สปป.ลาวให้ความสำคัญกับภาคเกษตรอย่างมาก โดยภาคการเกษตรมีสัดส่วนคิดเป็น 16% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และเป็นแหล่งรองรับการจ้างงานที่สำคัญ  สินค้าเกษตรสำคัญของสปป.ลาว คือ ข้าวโพด ซึ่งมีการปลูกมากรองลงมาจากข้าว โดยมีพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวโพดเฉลี่ยต่อปีประมาณ 165,372 เฮกตาร์ และมีผลผลิตเฉลี่ยกว่า 0.94 ล้านตันต่อปี

ข้าวโพดที่ผลิตในสปป.ลาวส่วนใหญ่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์เป็นหลัก และใช้แปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบต่างๆ  ทั้งแป้งข้าวโพด น้ำมันข้าวโพด เอทานอล พลาสติกชีวภาพ เป็นต้น โดยในภาพรวมการส่งออกข้าวโพดตามมูลค่าการค้าสปป.ลาวมีคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน (60%) เวียดนาม (25%) และไทย (15%)

สปป.ลาวเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศ  การส่งออกสินค้าเกษตรจึงมีความสำคัญต่อโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจ  ข้าวโพดจึงเป็นหนึ่งในสินค้าที่รัฐบาลพยายามในการพัฒนาตลอดห่วงโซ่คุณค่า เห็นได้จากการแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 8 ในยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรถึงปี 2568

UNCTAD ได้ศึกษาการพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าข้าวโพดเพื่อการส่งออกในสปป. ลาว  การศึกษานี้ได้ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาข้าวโพดในสปป.ลาวไว้ทั้งหมด 3 ประการ ประกอบด้วย

(1) ปรับปรุงการรวบรวม ข้อมูล สถิติ ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับข้าวโพด เนื่องจากความไม่พร้อมและความขาดแคลนข้อมูลทำให้การจัดทำนโยบายเพื่อพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าข้าวโพดไม่มีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง

(2) เพิ่มการเข้าถึงเงินทุนที่มีประสิทธิภาพของเกษตรกรและผู้ค้าข้าวโพด ผู้ค้าที่ให้สินเชื่อกับเกษตรกรมีผลต่อราคาข้าวโพดที่เกษตรกรได้รับ และการเข้าถึงสินเชื่อที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรเป็นแนวทางสำคัญต่อการลดผลกระทบของความต้องการเงินที่เร่งด่วนในการซื้อปัจจัยการผลิต

(3) ส่งเสริมรายได้ของเกษตรกรข้าวโพดรายย่อย ทั้งการช่วยให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมเพื่อลดความสูญเสียผลผลิต การเข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสม รวมถึงการให้การฝึกอบรมทางเทคนิค และควรสนับสนุนให้สหกรณ์ผู้ผลิตมีบทบาทสำคัญในการช่วยเกษตรกรรายย่อยเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองราคาขาย ผลลัพธ์จากการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าข้าวโพดจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวลาว  รวมทั้งนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของสปป.ลาว  ไทยเป็นประเทศคู่ค้าข้าวโพดที่สำคัญของสปป.ลาว  การพัฒนาการผลิตข้าวโพดของสปป.ลาวจะส่งผลให้ไทยได้ประโยชน์ด้านอุปทานข้าวโพดที่เพียงพอต่อการแปรรูปซึ่งจะมีส่วนส่งเสริมการผลิตและพัฒนาการแปรรูปข้าวโพดเป็นสินค้ามูลค่าสูงร่วมกันทั้งสองประเทศ 

ผู้เขียน
ณัฐจารีย์ เพ็ชรร่วง (นักวิจัย) และ
ณัฐธิดา ยะโสธรศรีกุล (ผู้ช่วยนักวิจัย)
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12411 วันพุธที่ 28 มิถุนายน 2566
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 1081 facebook twitter mail
Top