เกี่ยวกับเอกสาร
การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ถือเป็นความท้าทายสำคัญของเกือบทุกประเทศ เพราะภาวะโลกร้อนและความผันผวนของภูมิอากาศเริ่มปรากฏชัดและมีแนวโน้มเพิ่มความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ประเทศพัฒนาแล้วได้เริ่มประกาศบังคับใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเข้มข้นขึ้น ส่งผลให้สินค้าและบริการของประเทศกำลังพัฒนาเผชิญกับมาตรการที่มิใช่ภาษีรุนแรงขึ้น
ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียได้เผยแพร่รายงาน “Asia in The Global transition to Net Zero” เมื่อเดือนเมษายน 2566 รายงานฉบับนี้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับภาวะการปล่อยก๊าชคาร์บอนเป็นศูนย์ของเอเชีย ครอบคลุมถึงสถานการณ์การปล่อยก๊าชคาร์บอน การประเมินผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อก้าวสู่ Net Zero สรุปสาระสำคัญได้ดังต่อไปนี้
ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียมีความอ่อนไหวอย่างมากต่อความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อน เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มนี้เชื่อมโยงกับทรัพยากรธรรมชาติและภาคการเกษตร ภูมิภาคเอเชียปล่อยก๊าซคาร์บอนคิดเป็นสัดส่วน 44% ของทั้งโลกและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
การประมาณการภายใต้สถานการณ์จำลองการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณสูง พบว่าภาวะโลกร้อนจะส่งผลให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียหดตัว 24% เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนจะหดตัว 30% อินเดียและเอเซียใต้จะหดตัว 35% และ 30% ตามลำดับ
รัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียมีความตื่นตัวในการปรับตัวสู่ Net Zero โดยได้ยื่นแผนลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ภายใต้ความตกลงปารีส โดยประเทศสมาชิก 19 เขตเศรษฐกิจซึ่งปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็นสัดส่วน 80% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภูมิภาคเอเชียได้ให้คำมั่นว่าปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ในปี 2050
แผนการลดการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ของเอเชียมุ่งสู่การลดการตัดไม้ทำลายป่า การปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลและถ่านหิน การปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทน โดยฉพาะอย่างยิ่งการผลิตไฟฟ้าจากโซลาเซลล์หรือพลังงานแสงอาทิตย์ ประมาณการว่าเอเชียต้องลงทุนในภาคพลังงานทดแทนโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 1.5-2.7 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจนถึงปี 2050 เพื่อบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส
รายงานฉบับนี้ได้ให้ข้อเสนอแนะว่าในการบรรลุสู่การเป็นเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ประเทศในเอเชียต้องให้ความสำคัญกับ 3 เสาหลัก ได้แก่ (1) การปฏิรูปกลไกการกำหนดราคาคาร์บอนและลดการอุดหนุน (2) การอำนวยความสะดวกการปรับตัวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำโดยการสร้างแรงจูงใจและปรับปรุงกฎระเบียบการระดมเงินทุน (3) การส่งเสริมความเป็นธรรมระหว่างประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้วในการปรับต้วสู่สังคมคาร์บอนด์ต่ำ
ประเทศเอเชียควรดำเนินนโยบายเชิงรุกเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ มุ่งส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อขยายผลกระทบเชิงบวกจากการพัฒนานวัตกรรมสีเขียว การพัฒนานวัตกรรมด้านการเงินเพื่อรองรับความเสี่ยงจากการระดมทุนเพื่อพัฒนานวัตกรรมสีเขียว
การใช้นโยบายเชิงรุกเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อนต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างกลุ่มของประชาชน เนื่องจากอาจมีประชาชนบางกลุ่มได้รับผลกระทบจากราคาอาหารที่สูงขึ้น หรืออาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการจ้างงาน รัฐบาลควรมีโครงการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อให้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเลิกจ้างในอุตสาหกรรมที่ปลดปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์สูงให้สามารถเข้าสู่การจ้างงานในสาขาภาคการผลิตใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้เขียน
วิมล ปั้นคง
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12401 วันพุธที่ 14 มิถุนายน 2566
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”