บทความวิชาการ
view 1501 facebook twitter mail

พัฒนา ‘ตลาดคาร์บอน’ อาเซียน

เกี่ยวกับเอกสาร

ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศที่มากเกินขีดความสามารถในการดูดซับของธรรมชาติเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) หลายประเทศจึงมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ก่อให้เกิดเป็นความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งประเทศสมาชิกในอาเซียนล้วนเป็นหนึ่งในภาคีความตกลง

            หนึ่งในเครื่องมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่หลายประเทศใช้คือ ตลาดคาร์บอน (Carbon Market) ซึ่งเป็นตลาดที่มีซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยจะเป็นการเพิ่มต้นทุนในการปล่อยมลพิษเพื่อชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโลก ในตลาดคาร์บอนมีทั้งแบบภาคบังคับและภาคสมัครใจ

            ตัวอย่างของการพัฒนาตลาดคาร์บอนในอาเซียน เช่น สิงคโปร์มีการร่วมกันจัดตั้ง Climate Impact X (CIX) ซึ่งจะเป็นตลาดแลกเปลี่ยนซื้อขายคาร์บอนเครดิตมาตรฐานระดับโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจด้วยการอำนวยความสะดวกในการค้าคาร์บอนเครดิตคุณภาพผ่านสัญญาที่เป็นมาตรฐาน ควบคู่ไปกับแผนในการเพิ่มภาษีคาร์บอนในอนาคต

อินโดนีเซียมีการออกกฎระเบียบว่าด้วยการดำเนินการตามมูลค่าทางเศรษฐกิจคาร์บอนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่กำหนดในระดับประเทศ และการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ (Regulation 98) ซึ่งเป็นการกำหนดราคาและการซื้อขาย โดยก่อนหน้าที่กฎระเบียบนี้จะออกมา การซื้อขายจะเป็นแบบภาคสมัครใจ  นอกจากนี้ยังมีกฎหมายเก็บภาษีคาร์บอนแต่ยังไม่ถูกประกาศใช้ อย่างไรก็ตามภาษีที่กำหนดยังค่อนข้างต่ำ จึงอาจยังไม่มีแรงจูงใจมากพอที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

            ส่วนเวียดนามปัจจุบันแม้ยังไม่มีตลาดคาร์บอน แต่กำลังมีการวางรากฐานเพื่อสร้างตลาด เช่น มีการกำหนดกฎระเบียบที่ชัดเจนสำหรับตลาดคาร์บอนของเวียดนาม (Decree 06/2022/ND-CP) โดยปี 2566-2570 จะเป็นช่วงการพัฒนาวิธีการซื้อขาย และปี 2571 จะเปิดตลาดการค้าคาร์บอนอย่างเป็นทางการ

            กรณีประเทศไทย ตลาดคาร์บอนในไทยเป็นแบบภาคสมัครใจ ในการได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิตจะได้โดยผ่านโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ซึ่งคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการดำเนินโครงการจะชดเชยการปล่อยหรือขายคาร์บอนเครดิตให้แก่ผู้ที่ต้องการลดการปล่อยแต่ไม่สามารถทำเองได้ ซึ่งที่ผ่านมาแม้ตลาดในไทยยังมีขนาดเล็กแต่อัตราการเติบโตของปริมาณและราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

           สุดท้ายแม้ปัจจุบันตลาดคาร์บอนในอาเซียนยังอยู่ในช่วงการพัฒนาและยังมีหลายประเด็นที่ยังต้องมีการปรับปรุง รวมถึงความท้าทายใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่จากการที่มีแนวโน้มในการพัฒนาและให้ความสำคัญก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่อาเซียนจะมีโอกาสในการเป็นศูนย์กลางคาร์บอนเครดิตชั้นนำระดับโลก

ผู้เขียน
ณัฐจารีย์ เพ็ชรร่วง
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12361 วันพุธที่ 19 เมษายน 2566
หน้า 8 (ล่างซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 1501 facebook twitter mail
Top