บทความวิชาการ
view 2018 facebook twitter mail

อาเซียน และ ‘กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก’

เกี่ยวกับเอกสาร

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนเป็นภูมิภาคที่ประกอบด้วยประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรการผลิตที่ถือปัจจัยการผลิตที่สำคัญ และเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีผู้บริโภคจำนวนมากและถือเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านความมั่นคง เพราะมีขอบเขตพื้นที่ติดกับจีน ซึ่งถือเป็นประเทศมหาอำนาจใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการแข่งขันและท้าทายกับสหรัฐฯ ที่เป็นมหาอำนาจดั้งเดิม

            หลังเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดี โจ ไบเดน เมื่อต้นปี 2564 นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อจีนมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมองว่าจีนเป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ โดยได้ประกาศยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ซึ่งมีวัตถุประสงค์ยกระดับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง พัฒนาสัมพันธภาพทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค ขับเคลื่อนความมั่งคั่งของภูมิภาค เสริมสร้างความมั่นคงของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และสร้างความพร้อมระดับภูมิภาคเพื่อรับมือต่อภัยคุกคามข้ามชาติ

           เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2565 สหรัฐฯ และประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และมีประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ บูรไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม  มีถ้อยแถลงว่าด้วยกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ-แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรือง (Statement on Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity หรือ IPEF) เพื่อแสดงเจตจำนงที่จะพัฒนาความร่วมมือมากขึ้น

           IPEF ประกอบด้วยความร่วมมือ 4 เสา (Pillar) ได้แก่ (1) การค้า มีสาระครอบคลุมความร่วมมือทางการค้าที่มีมาตรฐานสูง เสรีและเท่าเทียม การกำหนดมาตรฐานการค้าดิจิทัล (2) ห่วงโซ่อุปทาน พัฒนาความโปร่งใส เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบ (3) พลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่งสริมการใช้พลังงานสะอาด (4) ภาษีและการต่อต้านการทุจริต มุ่งเน้นการส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมด้วยมาตรการภาษี การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านภาษี

           นักวิชาการมองว่า IPEF เป็นเครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในการกลับเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกีดกันจีนในการมีบทบาทเพิ่มขึ้นในห่วงโซ่การผลิตระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีความใกล้ชิดกับจีน คือ เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา ทั้งนี้ IPEF เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และมิใช่ข้อตกลงการค้าเสรี ดังนั้นสหรัฐฯ จึงไม่ได้ลดภาษีให้แก่ประเทศสมาชิกความร่วมมือ แต่ประเทศสมาชิกความร่วมมือมีภาระหน้าที่ต้องยกระดับมาตรฐานการค้า การผลิต แรงงาน และสิ่งแวดล้อม

           ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนและการฟื้นตัวที่เปราะบาง ทุกประเทศต่างเผชิญกับข้อจำกัดทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ  อาเซียนถือเป็นกลุ่มประเทศที่มีความหลากหลาย ความเป็นหนึ่งเดียวกันของอาเซียนถือเป็นหัวใจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายของการเป็นภูมิภาคที่เป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นอาเซียนต้องคำนึงถึงการมีเอกภาพและมองถึงผลประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว

ผู้เขียน
น้ำผึ้ง ทัศนัยพิทักษ์กุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12356 วันพุธที่ 12 เมษายน 2566
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top