เกี่ยวกับเอกสาร
มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Measures: NTMs) ทั้งระดับโลกและภูมิภาคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลปี 2561 พบว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนมีมาตรการ NTMs เพิ่มขึ้นจาก 8,237 มาตรการในปี 2558 เป็น 9,502 มาตรการในปี 2561 เมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV พบว่ามีมาตรการ NTMs เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
กลุ่มประเทศ CLMVT เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโต สังเกตได้จากผลิตภัณฑ์มวลรวม มีจุดเด่นด้านการค้าและการลงทุน ไทยสามารถเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญของทั้งห้าประเทศในฐานะผู้สร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจนี้ การทบทวนมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTMs) จะสนับสนุนให้การค้าระหว่างประเทศเป็นไปได้อย่างราบรื่น
ผลการศึกษาของ ITD มีข้อเสนอแนะที่ไทยควรดำเนินการเพื่อลดผลกระทบจากการบังคับใช้ NTMs ของประเทศเพื่อนบ้าน ดังนี้
การนำระบบดิจิทัลมาใช้แก้ปัญหาการบังคับใช้มาตรการ NTMs ของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งการรายงานผลกระทบของภาคเอกชน แนวทางการแก้ปัญหาของหน่วยงานภาครัฐ การติดตามผลการแก้ปัญหา
โดยจัดทำเว็บไซต์ให้ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกรายงานการบังคับใช้มาตรการ NTMs โดยมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องและให้คำชี้แจงเบื้องต้น รายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ผู้ประกอบการรับทราบความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานครัฐควรมีหน้าที่ในการรวบรวมหลักฐานการบังคับใช้มาตรการทางการค้าที่ส่อไปทางกีดกันทางการค้าเอง เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการ
การเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรการทางค้าที่มิใช่ภาษี
ภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรการทางการค้าของประเทศเพื่อนบ้านอย่างแท้จริง ดังนั้นในการประชุมเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านทั้งระดับภูมิภาคและระดับทวิภาคี ควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นทางการและต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถสะท้อนข้อเท็จจริงได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
การประสานการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูล การประสานการดำเนินงานทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ
หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับมาตรการด้านการค้าประกอบด้วยหลายหน่วยงาน เช่น หน่วยงานที่มีหน้าที่ประสานงานและเจรจาด้านการค้าระหว่างประเทศ หน่วยงานที่ออกกฎหมายบังคับใช้มาตรการทางการค้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรการทางการค้าทั้งมาตรการด้านเทคนิค การออกใบอนุญาต โควตา กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรการเกี่ยวกับการส่งออก
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับกรมเหล่านี้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเป็นการเฉพาะและยังขาดการบูรณาการทำงานระหว่างกัน ดังนั้นจึงควรมีการจัดตั้งคณะทำงานระดับประเทศของเจ้าหน้าที่ภาครัฐโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้งานเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานระหว่างกัน
ผู้เขียน
วิมล ปั้นคง
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12351 วันพุธที่ 5 เมษายน 2566
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “Asean Insight”