เกี่ยวกับเอกสาร
อาหารฮาลาล (Halal food) คือ อาหารที่ได้รับอนุญาตให้บริโภคได้ตามบัญญัติของศาสนาอิสลาม ตลอดกระบวนการผลิตต้องปฏิบัติตามหลักของศาสนาอย่างเคร่งครัด อาหารที่ผ่านมาตรฐานฮาลาลจะมีเครื่องหมายฮาลาล ( حلال) เพื่อรับรองมาตรฐาน ซึ่งจะออกโดยหน่วยงานรับรองของแต่ละประเทศ ผู้บริโภคจึงสามารถมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยของอาหารเช่นเดียวกับมาตรฐานอาหารปลอดภัยประเภทอื่น ๆ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้คนหันมาบริโภคอาหารที่ปลอดภัยมากขึ้น อาหารฮาลาลซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอาหารที่มีการรับรองความปลอดภัยในการผลิตที่เข้มงวด จึงเป็นตัวเลือกในการบริโภคอาหารปลอดภัยทั้งผู้บริโภคที่เป็นชาวมุสลิมและไม่ใช่
รายงานของ EXIM BANK พบว่ามูลค่าอาหารฮาลาลทั่วโลกมีสัดส่วนประมาณ 17% ของค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลก ประเทศผู้ส่งออกหลักของอาหารฮาลาล ได้แก่ สหรัฐฯ เนเธอแลนด์ เยอรมนี จีน และฝรั่งเศส โดยในอาเซียนจะมีแค่ประเทศไทยที่ส่งออกติดอันดับโลก (อยู่ในอันดับที่ 11 มีส่วนแบ่งในตลาดโลก 2.44%) จะเห็นว่าในประเทศที่กล่าวมานั้นไม่ใช่ประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นศาสนาหลัก
เวียดนามในฐานะผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ในอาเซียนและมีความแข็งแกร่งในด้านวัตถุดิบ แม้จะมีประชากรมุสลิมเพียง 75,000 คน ตลาดและธุรกิจอาหารฮาลาลในเวียดนามยังมีขนาดเล็ก เวียดนามจึงมีแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลเพื่อส่งออกมาโดยตลอด
การที่เวียดนามจะเข้าสู่ตลาดส่งออกอาหารฮาลาลได้นั้น จำเป็นต้องมีหน่วยงานรับรองมาตรฐานฮาลาล มาตรฐานอาหารฮาลาลจะมีความซับซ้อนกว่ามาตรฐานอื่น ๆ และไม่มีหน่วยงานระหว่างประเทศที่เป็นหนึ่งเดียว ในการส่งออกต้องเป็นไปตามมาตรฐานของประเทศปลายทางประกอบกับผู้ประกอบธุรกิจอาหารฮาลาลในเวียดนามยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับตลาดและมีต้นทุนการผลิตที่สูง นอกจากนี้ยังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศที่มีโครงสร้างการส่งออกที่คล้ายคลึงกันอย่างเช่นไทย
จากรายงานของ Vietnam Briefing เวียดนามมีการใช้ประโยชน์จากในการหารือทวิภาคีกับหลายประเทศเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน ซึ่งเป็นตลาดฮาลาลที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน
ที่ผ่านมาอินโดนีเซียรับคำขอจากเวียดนามด้านการสนับสนุน SMEs ในการรับรองมาตรฐานฮาลาล และช่วยในการรับรองหน่วยงานรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลของเวียดนาม (HCA) ส่วนมาเลเซียมีข้อตกลงกับเวียดนามในการพัฒนาขั้นตอนการปฏิบัติงานมาตรฐาน เพื่อพัฒนาห่วงโซ่อุปทานฮาลาลในเวียดนาม
ล่าสุดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีเวียดนาม Pham Minh Chinh ได้หารือเพื่อสนับสนุนความร่วมมือกับบรูไนในอาหารฮาลาล โดยเสนอให้เวียดนามจัดหาวัตถุดิบ และให้บรูไนเป็นผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลเพื่อส่งออก
แม้การส่งออกของอาหารฮาลาลของเวียดนามยังมีขนาดเล็ก แต่จากแนวโน้มความต้องการบริโภคอาหารฮาลาลที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับเวียดนามมีความพร้อมในด้านวัตถุดิบการผลิต มีความร่วมมือกับประเทศมุสลิมในอาเซียน และยังได้เปรียบในด้านการขนส่งภายในภูมิภาค ในอนาคตเวียดนามอาจเป็นหนึ่งในความท้าทายและคู่แข่งรายสำคัญที่จะเข้ามาชิงส่วนแบ่งการส่งออกอาหารฮาลาลโลกรวมทั้งไทย
ผู้เขียน
ณัฐจารีย์ เพ็ชรร่วง
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 36 ฉบับที่ 12331 วันพุธที่ 8 มีนาคม 2566
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”