บทความวิชาการ
view 816 facebook twitter mail

โอกาสอาเซียน EV Hub โลก

เกี่ยวกับเอกสาร

ในปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกได้ตระหนักถึงผลกระทบของสภาวะโลกร้อน และความจำเป็นของการพึ่งพาพลังงานสะอาดที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่สอดรับกับการปรับตัวด้านพลังงาน จึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย และเวียดนาม มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าตลอดห่วงโซ่คุณค่า ภูมิภาคนี้จึงมีศักยภาพที่จะเป็น EV hub ของโลกในระยะยาว

รายงาน ASEAN Investment Report 2022 ระบุว่า ห่วงโซ่คุณค่ารถยนต์ไฟฟ้าสามารถแบ่งโดยคร่าวเป็น 3 ขั้นตอน โดยประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีบทบาทในแต่ละขั้นตอนแตกต่างกันไป ได้แก่

ขั้นตอนที่ 1 การขุดและถลุงแร่นิกเกิล ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเพื่อใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า มีอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เป็นผู้เล่นสำคัญ โดยอินโดนีเซียผลิตแร่นิกเกิลสูงสุดอันดับที่ 1 ของโลก เป็นสัดส่วน 22% ของการผลิตทั้งหมด หรือประมาณ 21 ล้านเมตริกตันในปี 2021 ส่วนฟิลิปปินส์ผลิตแร่นิกเกิลสูงสุดอันดับที่ 6 ของโลก เป็นสัดส่วน 5% ของการผลิตทั้งหมด หรือประมาณ 4.8 ล้านเมตริกตันในปีเดียวกัน

ขั้นตอนที่ 2 การผลิตแบตเตอรี่ EV และชิ้นส่วนของรถยนต์ ประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ต่างเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ EV ให้กับบริษัทรถยนต์ระดับโลกต่าง ๆ ยกตัวอย่าง อินโดนีเซียเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ให้กับ LG Energy Solution ซึ่งร่วมลงทุนกับ Hyundai  มาเลเซียเป็นฐานผลิตแบตเตอรี่ให้กับ Honda และ SK Group ส่วนประเทศไทยเป็นฐานผลิตแบตเตอรี่ให้กับ BMW Mercedes-Benz และ Toyota เป็นต้น ในอนาคตอินโดนีเซียเตรียมจะเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ให้ Tesla และเวียดนามเตรียมจะเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ให้ BYD

ขั้นตอนที่ 3 การผลิตรถยนต์ EV ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าประเภทไฮบริด (HEV) ให้บริษัท Honda Nissan และ Toyota ประเภทปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ให้บริษัท Mercedes-Benz และ BMW และประเภทรถยนต์ไฟฟ้า 100% (BEV) ให้บริษัท FOMM และ Takano จากญี่ปุ่น นอกจากนี้ในอนาคต ประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตให้บริษัท Foxconn และ BYD ซึ่งมีการประกาศแผนการตั้งโรงงานในไทยเรียบร้อยแล้ว

มาเลเซียเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าประเภทไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริดให้บริษัท Toyota Kia และ Volvo ส่วนอินโดนีเซียเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้บริษัท Hyundai และ Toyota ในอนาคตอินโดนีเซียเตรียมจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ของ Tesla และ BYD เช่นกัน เนื่องจากการเจรจาข้อตกลงได้บรรลุในระยะแรกแล้ว

นอกเหนือจากเป็นฐานการผลิต ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% ภายใต้แบรนด์สัญชาติตัวเอง ยกตัวอย่าง VinFast จากเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันมีฐานการผลิตในประเทศเวียดนามและส่งออกไปยังทวีปสหรัฐและยุโรป ในอนาคต VinFast มีแผนการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ ภายในปี 2024 เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าหลักมากขึ้น

รายงาน ASEAN Investment Report 2022 ได้ระบุด้วยว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีปัจจัยสนับสนุน 6 ประการที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค ได้แก่ การเข้าถึงทรัพยากรสำคัญ (เช่น แร่นิกเกิล) ความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ การสนับสนุนจากภาครัฐ การตั้งอยู่ของโรงงานผลิตรถยนต์เดิมที่สามารถขยายการผลิตใหม่ ที่ตั้งที่อำนวยความสะดวกห่วงโซ่อุปทาน EV Car และโครงสร้างพื้นฐาน

ในปี 2021 ตลาด EV Car ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในปี 2027 มูลค่าตลาด EV Car นี้อาจเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมสภาพแวดล้อมการลงทุนที่ดี การส่งเสริมการเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนและรถยนต์อย่างเสรี และการใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมืออาเซียนถือเป็นปัจจัยสำคัญ

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 816 facebook twitter mail
Top