เกี่ยวกับเอกสาร
ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเศรษฐกิจภาคเกษตรเมียนมามีความผันผวนสูง ความสำคัญของภาคการเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่อง ปี 2562 ภาคเกษตรเมียนมามีมูลค่า 16,264.96 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 21.35 % ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งขยายตัวขึ้น 2.56 % เมื่อเทียบกับปี 2561 ในปี 2562 ภาคเกษตรของเมียนมามีการจ้างงานรวม 48.85 % และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
การส่งออกสินค้าเกษตรของเมียนมามีแนวโน้มสูงขึ้น ปี 2563 เมียนมาส่งออกสินค้าเกษตรรวม 4,851.75 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 28.66 % ของการส่งออกรวม ตลาดส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญห้าอันดับแรกของเมียนมา ประกอบด้วย จีน ไทย อินเดีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ โดยมูลค่ารวมของการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังห้าประเทศดังกล่าวมีสัดส่วนถึง 78.62 % ของการส่งออกสินค้าเกษตรไปทั่วโลก
สินค้าเกษตรที่ส่งออก อาทิ ถั่วบีนชนิดวิกนามังโกเปเปอร์ เป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่มีมูลค่าสูงสุด โดยในปี 2563 มีการส่งออกถึง 1,019.33 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 21.01 % ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด สินค้าลำดับรองลงมา คือ ข้าวกล้อง กล้วย เมล็ดงา และปลายข้าว ตามลำดับ โดยสัดส่วนการส่งออกของสินค้าทั้งห้าชนิดคิดเป็น 48.60 % ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทุกชนิด
ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในภาคการเกษตรของเมียนมา พบว่า มีความผันผวนตั้งแต่ช่วงปี 2555 เป็นต้นมา เมื่อพิจารณาสัดส่วนการลงทุนในภาคเกษตรเทียบกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศโดยรวมแล้วมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเมียนมามีข้อจำกัดด้านการแปรรูปสินค้าเกษตร ขาดการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทานในภาคเกษตร สินค้าเกษตรที่ผลิตได้ยังมีคุณภาพต่ำทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ มีข้อจำกัดด้านกำลังการผลิต
เนื่องจากอุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตรยังไม่ทันสมัย การกระจายผลผลิตที่ไม่มีประสิทธิภาพ จึงทำให้เมียนมามีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงเพื่อพัฒนาการยกระดับมูลค่าเพิ่มในกระบวนการผลิต รวมถึงการจัดระบบการจัดการที่มีคุณภาพ และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการจำหน่ายและการแปรรูปอุตสาหกรรมอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ เมียนมาได้ร่วมกับญี่ปุ่นวางแผนพัฒนาห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตร
รัฐบาลเมียนมามุ่งส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในภาคการเกษตร โดยมุ่งการให้สัมปทานพื้นที่ปลูกขนาดใหญ่เพื่อเพาะปลูกพืชทางการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเกษตร แม้ว่าเมียนมายังมีปัญหาหลายประการในการพัฒนาภาคการเกษตรทั้งข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง ขาดแคลนปัจจัยการผลิต
แต่เมื่อพิจารณาในเชิงเปรียบเทียบแล้วพบว่า นักธุรกิจไทยมีความได้เปรียบในการเข้าไปประกอบธุรกิจด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรในเมียนมา เนื่องจากสามารถใช้โอกาสจากการเติบโตของการค้าชายแดนต่อยอดไปสู่การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรระหว่างประเทศได้
ประเด็นสำคัญของการร่วมมือพัฒนาห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรคือ การให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการแปรรูปสินค้าเกษตร การพัฒนามาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตรโดยภาครัฐมีบทบาทนำและมีภาคเอกชนหนุนเสริมพัฒนาจากความช่วยเหลือไปสู่การลงทุนร่วมกันในอนาคต