เกี่ยวกับเอกสาร
เศรษฐกิจโลกช่วงครึ่งปีแรกของปี 2025 กำลังอยู่ในภาวะเปราะบาง ภายใต้แรงกดดันจากความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้า ตลาดการเงินที่ผันผวน และความตึงตัวของแหล่งเงินทุน สาเหตุหลักมาจากการประกาศนโยบายขึ้นภาษีศุลภากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กับหลายประเทศทั่วโลกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ซึ่งครอบคลุมประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา แม้จะได้ประกาศชะลอการบังคับออกไปอีก 90 วันเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2025 แต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ความไม่แน่นอนคลี่คลายลง
ข้อมูลจากรายงาน UNCTAD Trade and Development Foresights 2025 ระบุว่าอัตราการเติบโตเศรษฐกิจโลกปี 2025 จะชะลอตัวลงเหลือเพียง 2.3% ซึ่งเป็นระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงกลุ่มประเทศอาเซียน ที่มีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงหลายด้านพร้อมกัน เช่น หนี้สาธารณะสูง การค้าโลกชะลอตัว รวมทั้งการลดลงของความช่วยเหลือจากภายนอก (ODA)
ภายใต้บริบทของอาเซียน แม้ว่าเศรษฐกิจของหลายประเทศยังคงเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาคการผลิต การส่งออก และการบริโภคภายในประเทศ แต่ภูมิภาคนี้ก็ยังคงเผชิญความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าหลักทั้งสหรัฐฯ และจีน นอกจากนี้ภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มเผชิญกับความผันผวนของค่าเงิน และต้นทุนพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้งภาระหนี้ภาคครัวเรือนและหนี้ภาคเอกชนที่สูงขึ้นในบางประเทศ เช่น มาเลเซีย และไทย
ข้อมูลจาก UNCTAD ยังระบุว่าในช่วงต้นปี 2025 การส่งออกของประเทศกำลังพัฒนาชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะคำสั่งซื้อใหม่ลดลง ซึ่งบ่งชี้ถึงการหดตัวของด้านการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีความผันผวนสูง ส่งผลต่อรายได้ของหลายประเทศในภูมิภาคที่ยังพึ่งพารายได้หลักจากการส่งออกสินค้าเกษตรและพลังงาน
สำหรับไทย การเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีอัตราคาดการณ์เพียง 2.2% ในปี 2025 ความท้าทายหลักอยู่ที่ความสามารถในการแข่งขัน ความเสี่ยงจากการพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง และต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ ขณะเดียวกันภาคการส่งออกของไทยก็ได้รับผลกระทบจากต้นทุนโลจิสติกส์ที่ผันผวน ค่าระวางเรือที่ไม่แน่นอน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการค้าโลก
สถานการณ์ความไม่แน่นอนสูงนี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยจะต้องเผชิญความเสี่ยงจากต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น ความผันผวนของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายภาษีและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามยังมีโอกาสจากการขยายตัวของการค้าภายในอาเซียน และการเติบโตของตลาดบริการดิจิทัล ซึ่งกลุ่มบริการที่ส่งออกได้ผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น ซอฟต์แวร์ การเงิน และบริการวิชาชีพ ยังเติบโตได้ดีในหลายประเทศ
แนวทางรับมือสำหรับผู้ประกอบการไทยและอาเซียน ในระยะสั้นควรกระจายความเสี่ยงของตลาด โดยเพิ่มสัดส่วนการส่งออกไปยังประเทศในอาเซียน และประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ที่มีความต้องการภายในประเทศสูง เช่น อินเดีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง เร่งใช้ประโยชน์จากข้อตกลง RCEP และความตกลงการค้าภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพื่อลดภาษีนำเข้าในภูมิภาค ลดต้นทุนการค้าซึ่งรวมถึงการลดต้นทุนโลจิสติกส์และลดขั้นตอนศุลกากร ปรับกลยุทธ์การเงินโดยการการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน การใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการเงิน และการหาแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำผ่านสถาบันการเงินเฉพาะทาง
แนวทางการรับมือในระยะยาว ต้องลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ ตอบสนองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจดิจิทัล และความต้องการเฉพาะกลุ่มในตลาดโลก ที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจสู่ดิจิทัล เช่น e-commerce, fintech, บริการไอทีส่งออก โดยเฉพาะบริการที่สามารถส่งออกข้ามพรมแดนได้โดยไม่ขึ้นกับโลจิสติกส์แบบเดิม และต้องร่วมมือกับประเทศอาเซียนในการตั้งคลัสเตอร์การผลิตและบริการร่วมกัน เช่น ศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ ศูนย์ข้อมูล และศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีระดับภูมิภาค
นอกจากนี้ เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติการณ์นี้ได้ ภาครัฐไทยควรดำเนินนโยบาย
1) สร้างเสถียรภาพด้านการเมืองและเศรษฐกิจมหภาค เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคเอกชนและต่างประเทศ รวมถึงรักษาอันดับเครดิตของประเทศ
2) เร่งการเจรจาการค้าเพิ่มเติม โดยเฉพาะในตลาดนอกภูมิภาคอาเซียน เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา และอเมริกาใต้ พร้อมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานระดับโลก
3) สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำสำหรับ SME และ Startups โดยเฉพาะในสาขาที่มีศักยภาพ เช่น เทคโนโลยีสีเขียว โลจิสติกส์ และดิจิทัลคอนเทนต์
4) พัฒนาแรงงานในสาขาดิจิทัล การเงิน และโลจิสติกส์ เพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจใหม่ พร้อมส่งเสริมระบบการศึกษาที่เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมจริง
5) สร้างกลไกประสานความร่วมมืออาเซียน เช่น กองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมร่วม การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงกัน
แม้เศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2025 จะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่อาเซียนและไทยยังมีโอกาสปรับตัวเพื่อการเติบโต หากสามารถกำหนดทิศทางการลงทุนและนโยบายได้อย่างมีกลยุทธ์ ผู้ประกอบการไทยควรมองหาโอกาสจากความร่วมมือภายในภูมิภาค ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อน และประสานกับภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ทั้งนี้บทบาทของภาครัฐในฐานะผู้ประสานและสนับสนุนเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสอย่างแท้จริง
ผู้เขียน
น้ำผึ้ง ทัศนัยพิทักษ์กุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 38 ฉบับที่ 12886 วันพุธที่ 23 เมษายน 2568
หน้า 8 (ล่างซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”