บทความวิชาการ

Reciprocal Tariff สู่สงครามเศรษฐกิจโลกกับทางรอดของอาเซียน

เกี่ยวกับเอกสาร

 เศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งแรกของเดือน เม.ย. 2568 อยู่ในสภาวะที่ไร้ระเบียบจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศ Reciprocal Tariff แต่ฝ่ายเดียวต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2568 ทำให้สงครามการค้าโลกปะทุขึ้นและลุกลามไปสู่สงครามทรัพยากรอย่างแร่หายาก และสงครามการเงิน อีกทั้งยังมีความสุ่มเสี่ยงจะเกิดสงครามโลจิสติกส์ทางทะเลจากการที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) มีแผนจะเก็บค่าธรรมเนียมเรือที่ผลิตในจีนสำหรับการเทียบท่าเรือแต่ละครั้งในอัตราที่สูงมาก ทั้งหมดนี้นำมาสู่ความวิตกต่อประเทศทั่วโลกรวมถึงอาเซียนและไทยถึงวิธีการรับมือและหาทางรอดจากสงครามเศรษฐกิจรอบด้านในครั้งนี้

หลายประเทศที่มีอำนาจต่อรองสูงเลือกใช้วิธีตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เช่น จีนที่ล่าสุดปรับขึ้นสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ สูงถึง 125% อีกทั้งห้ามการส่งออกแร่หายาก (Rare Earth) ไปยังสหรัฐฯ เช่น สแคนดิอัม และดิสโพรเซียม ซึ่งเป็นวัสดุสำคัญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งส่งผลให้เกิดความวิตกต่อผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ในขณะที่สหภาพยุโรป (EU) ก็ขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐฯ 25% ทั้งในหมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม

สงครามการค้าลุกลามไปถึงการเกิดสงครามการเงิน เมื่อสินทรัพย์ที่ปลอดภัยที่สุดในโลกอย่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ถูกเทขายอย่างหนัก ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่เจ้าหนี้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รายใหญ่ที่สุดอย่างญี่ปุ่นและจีน อาจใช้ข้อได้เปรียบในฐานะเจ้าหนี้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รายสำคัญ เข้าต่อรองกับประธานาธิบดีทรัมป์ในการลดการขึ้นภาษีนำเข้า

สำหรับสงครามโลจิสติกส์ทางทะเลที่ยังไม่ถูกพูดถึงมากนักก็มีความสุ่มเสี่ยงจะเกิดขึ้นจากการที่ USTR มีแผนจะประกาศมาตรการที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการค้าโลก โดยการเก็บค่าธรรมเนียมท่าเรือสำหรับเรือที่เกี่ยวข้องกับจีนเที่ยวละ 500,000 – 1.5 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ที่ผ่านมาบริษัทเดินเรือหลายแห่งหลีกเลี่ยงการส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ เพื่อหลักเลี่ยงค่าธรรมเนียมที่สูงมากดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ เกิดการพักยกสงครามทางเศรษฐกิจบางส่วนชั่วคราว โดยสหรัฐฯ ยุติการเก็บ Reciprocal Tariff 90 วัน พร้อมลดภาษีนำเข้าให้เกือบทุกประเทศเหลือ 10% อีกทั้งทบทวนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมท่าเรือสำหรับเรือที่เกี่ยวข้องกับจีน และล่าสุดจะยกเว้นการขึ้นภาษีนำเข้ายานยนต์ที่ประกาศก่อนหน้านี้ 25%

ทางรอดของอาเซียน

            1. การพูดคุยเจรจา ประเทศในอาเซียนเป็นประเทศขนาดเล็กและไม่มีอำนาจต่อรองมากนักกับสหรัฐฯ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาที่จะส่งผลดีต่อทุกฝ่ายในระยะยาวคือ “การพูดคุยเจรจา” ในเชิงสร้างสรรค์ โดยการให้ข้อเสนอแลกภาษี 0% กับ 0% ของ EU และเวียดนามต่อสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นว่า สหรัฐฯ มีประเด็นที่จะหยิบยกขึ้นมาเจรจากับประเทศในอาเซียนอยู่แล้ว ทั้งการลดภาษีและการให้นำเข้าสินค้าเพิ่มเติม รวมถึงมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff Barriers – NTB) โดยเฉพาะที่ปรากฏในรายงาน National Trade Estimate ประจำปี 2568

ดังนั้น ก่อนการเข้าเจรจากับสหรัฐฯ อาเซียนจึงควรเตรียมความพร้อมให้รัดกุมในการตอบสนองต่อประเด็นใด ๆ ที่สหรัฐฯ จะหยิบยกขึ้นมาขอให้ปฏิบัติตาม ซึ่งอาเซียนต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน นอกจากนี้ ยังอาจพิจารณาเจรจากับประเทศอื่นๆ เช่น EU ประเทศ Middle Power รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ให้มากขึ้นในด้านการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกันเพื่อลดความเสี่ยง

            2. การส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานและการค้าในภูมิภาค โดยการสร้างห่วงโซ่อุปทานและการเพิ่มการค้าและการลงทุนระหว่างกัน เพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้าและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานอาเซียนยังมีความท้าทาย เช่น มาตรฐานและกฎระเบียบที่แตกต่างกัน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย ซึ่งอาเซียนควรร่วมมืออย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อให้ภูมิภาคสามารถก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านี้ เพื่อให้สามารถเสริมสร้างเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาคร่วมกันให้แข็งแรงและยั่งยืนได้ในระยะยาว

ท่ามกลางคลื่นลมแห่งสงครามเศรษฐกิจรอบด้านที่ถาโถมเข้าใส่อาเซียน การยืนหยัดอยู่บนเส้นทางแห่งการเจรจาและการร่วมมือกันอย่างจริงใจจะเป็นแสงนำทางสู่ทางรอด อีกทั้งการพูดคุยบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันด้วยความเข้าใจและความเคารพซึ่งกันและกัน จะเป็นสะพานที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์ รวมถึงจะนำไปสู่ระบบการค้าที่ปราศจากอุปสรรคและเต็มไปด้วยโอกาสและยั่งยืนสำหรับทุกคนในที่สุด

ผู้เขียน
วรัญญา ยศสาย
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 38 ฉบับที่ 12881 วันพุธที่ 16 เมษายน 2568
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top