เกี่ยวกับเอกสาร
แม้ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 รายงานที่จัดทำโดย ESCAP ซึ่งเปิดเผยเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2025 ชี้ให้เห็นว่าความก้าวหน้าการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายยังคงอยู่ในระดับที่ “ล่าช้าอย่างมีนัยสำคัญ” หรือแม้กระทั่งหยุดชะงัก โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญ เช่น การบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน (SDG เป้าหมายที่ 12) การศึกษาที่มีคุณภาพ (SDG เป้าหมายที่ 4) และการจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (SDG เป้าหมายที่ 8)
การชะลอหรือถดถอยของความก้าวหน้าเหล่านี้มีสาเหตุมาจากปัจจัยสำคัญหลายประการ เช่น การเพิ่มขึ้นของเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล ความสามารถด้านการอ่านและด้านคณิตศาสตร์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำในหลายประเทศ รวมทั้งรูปแบบการผลิตที่ไม่ยั่งยืน แนวโน้มเชิงลบยังเห็นได้ชัดจากตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม เช่น รายได้จากการประมงอย่างยั่งยืนที่ลดลง และการเสื่อมโทรมของพื้นที่ป่าและผืนดิน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายว่าด้วยชีวิตใต้ทะเล (SDG เป้าหมายที่ 14) และชีวิตบนบก (SDG เป้าหมายที่ 15)
รายงานของ ESCAP ชี้ว่าสิ่งที่น่ากังวลเป็นพิเศษคือการถดถอยอย่างชัดเจนด้าน “การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (SDG เป้าหมายที่ 13) เนื่องจากภูมิภาคนี้มีความเปราะบางต่อภัยพิบัติธรรมชาติ และยังเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งโลก ทั้งนี้รายงานชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าด้าน “อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน” (SDG เป้าหมายที่ 9) และ “สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี” (SDG เป้าหมายที่ 3) ที่โดดเด่น โดยเฉพาะจากการขยายการเข้าถึงเครือข่ายมือถือ และการปรับปรุงด้านสุขภาพของมารดา ทารก และเด็ก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนที่มุ่งเน้นและนโยบายที่มีประสิทธิภาพสามารถสร้างความก้าวหน้าได้อย่างมีประสิทธิผล
รายงานชี้ว่ามีแนวโน้มเชิงลบที่จำเป็นต้องพลิกฟื้นโดยเร่งด่วนโดยส่วนใหญ่ของเป้าหมายที่มีแนวโน้มถดถอยนั้นเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงจากภัยพิบัติ อย่างไรก็ตามภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกยังมีข้อได้เปรียบในหลายด้านเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นของโลก ตัวอย่างเช่น ความก้าวหน้าในการลดความยากจนด้านรายได้ (SDG เป้าหมายที่ 1) การลดภาวะขาดสารอาหาร (SDG เป้าหมายที่ 2) การเพิ่มปริมาณผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า (SDG เป้าหมายที่ 9) การลดของเสียอันตราย (SDG เป้าหมายที่ 12) และการลดอัตราการค้ามนุษย์และการฆาตกรรมโดยเจตนา (SDG เป้าหมายที่ 16)
ภูมิภาคนี้ยังล้าหลังในเป้าหมายที่สำคัญ เช่น เรื่องการจ้างงานที่มีคุณค่า การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล และการส่งเสริมหุ้นส่วนระดับโลก ประเทศที่อยู่ในสถานการณ์พิเศษ เช่น ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ประเทศกำลังพัฒนาไร้ทางออกสู่ทะเล และรัฐหมู่เกาะขนาดเล็ก เผชิญกับการถดถอยในเป้าหมายด้านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน การจ้างงานที่มีคุณค่า และการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน กลุ่มประเทศเหล่านี้จึงจำเป็นต้องได้รับความสนใจเป็นพิเศษ และการสนับสนุนอย่างมุ่งเน้นในประเด็นร่วม เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ข้อมูลระดับประเทศเผยให้เห็นแนวโน้มที่หลากหลาย บางประเทศแม้จะทำได้ดีในบางเป้าหมาย แต่ก็มีแนวโน้มถดถอยในเป้าหมายอื่น ซึ่งควรใช้เป็นสัญญาณเตือนเชิงนโยบาย ขณะที่บางประเทศถึงแม้จะอยู่ในภูมิภาคที่ภาพรวมไม่ดีนัก แต่ก็มีการบรรลุผลลัพธ์ที่น่าสนใจในบางประเด็น ซึ่งควรนำมาเป็นแบบอย่างและกรณีศึกษา ประเด็นที่น่ากังวลอีกประการคือ ความไม่เท่าเทียมกันที่ยังคงอยู่ และการที่กลุ่มเปราะบางถูกละเลยจากผลประโยชน์ของการพัฒนา โดยปัจจัยที่ซ้อนทับกัน เช่น อายุ เพศ ระดับการศึกษา ถิ่นที่อยู่ และฐานะทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น ข้อมูลจากการสำรวจครัวเรือนบ่งชี้ว่าความยากจนและการศึกษาที่ต่ำคือปัจจัยหลักที่ลดโอกาสในการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน เช่น น้ำสะอาด พลังงาน และสุขาภิบาล
แนวทางใหม่ที่น่าสนใจคือ การสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐบาล พันธมิตรด้านการพัฒนา และชุมชนท้องถิ่น เพื่อนำเอาแนวทางนวัตกรรมมาใช้ ความเป็นผู้นำทางการเมืองที่เข้มแข็ง การระดมทุน และการเสริมสร้างความร่วมมือ ภาครัฐในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสามารถเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ โดยใช้แนวทางการขับเคลื่อนร่วมกันทั้งสังคม และการส่งเสริมการลงทุนในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของระบบข้อมูลและสถิติเพื่อนำไปสู่การประเมินและติดตามผลที่ทันสมัย
ผู้เขียน
วิมล ปั้นคง
รองผู้อำนวยการ (วิชาการ)
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 38 ฉบับที่ 12876 วันพุธที่ 9 เมษายน 2568
หน้า 8 (ล่างซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”