เกี่ยวกับเอกสาร
แผ่นดินไหวรุนแรงที่เมียนมาเมื่อ 28 มี.ค. 68 เวลา 13.20 น. ส่งผลกระทบถึงไทยที่สัมผัสได้ถึงแผ่นดินไหวรุนแรงในระยะเวลาต่อเนื่อง โครงสร้างพื้นฐานและตึกอาคารเกิดความเสียหาย โดยเฉพาะกรณีตึกถล่ม ทำให้แผ่นดินไหวครั้งนี้มียอดผู้เสียชีวิตในไทยราว 20 ราย บาดเจ็บเกิน 30 ราย และยังคงมีผู้สูญหายอยู่เกือบ 80 ราย
ขณะที่ศูนย์กลางอย่างเมียนมาเกิดความเสียหายรุนแรงมีผู้เสียชีวิตเกินสองพัน และยังมีผู้บาดเจ็บและสูญหายอีกจำนวนมาก ซึ่งแผ่นดินไหวครั้งนี้ถูกประเมินว่าสร้างความเสียหายมากกว่า GDP ของเมียนมา
แผ่นดินไหวนี้ไม่ใช่ภัยพิบัติแรกที่กระทบต่อไทยและประเทศสมาชิกอาเซียน ด้วยสภาพภูมิประเทศที่มีรอยเลื่อน ภูเขาไฟ ป่า แม่น้ำ และทะเล ประกอบกับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาเซียนจึงต้องเผชิญกับภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ดินถล่ม ไฟป่า น้ำท่วม สึนามิ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
ระบบแจ้งเตือนภัยที่เข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึง ทั้งการแจ้งเตือนล่วงหน้ากรณีที่สามารถพยากรณ์ได้ และการแจ้งเหตุที่รวดเร็วสำหรับเหตุที่ไม่สามารถรู้ล่วงหน้า จึงมีความจำเป็นอย่างมากในการหลีกเลี่ยงและบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้มากที่สุด
ประเทศที่มีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติอย่างญี่ปุ่นมีระบบการแจ้งเตือน J-alert ซึ่งสามารถแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน ภัยพิบัติ สภาพอากาศรุนแรง ไปจนถึงแจ้งข่าวฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็วผ่านลำโพงกระจายเสียง โทรทัศน์ วิทยุ อีเมล และการส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือผ่าน Cell Broadcast
เกาหลีใต้ก็มีระบบแจ้งเตือนประชาชนที่ก้าวหน้าอย่างมาก โดยมีการแจ้งเตือนผ่าน Cell Broadcast และการส่งข้อความแบบระบุพิกัด ที่มีการแจ้งเตือนเมื่อเกิดภัยคุกคาม ภัยพิบัติ อุบัติเหตุ เหตุฉุกเฉิน หรือเหตุสำคัญอื่น ๆ ทำให้สามารถเข้าถึงประชาชนได้ในวงกว้างและรวดเร็ว
ขณะที่ในอาเซียนให้ความสำคัญการพัฒนาระบบการแจ้งเตือนอย่างต่อเนื่อง เช่น สิงคโปร์ นอกจากสัญญาณเตือนภัยทั่วเกาะ ยังมีแอปพลิเคชัน SGSecure และการแจ้งเตือนผ่าน SMS แบบระบุพิกัด ฟิลิปปินส์มีกฎหมายว่าด้วยการแจ้งเตือนภัยพิบัติทางโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ปี 2557 โดยมีการแจ้งเตือนผ่าน SMS และ Cell Broadcast รวมถึงทางอื่น ๆ เช่น อีเมล Social media
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าหลายประเทศในอาเซียนยังคงไม่มีระบบการแจ้งเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงประชาชนในวงกว้างอย่างรวดเร็วเพียงพอ รวมถึงไทย แม้ว่าเราจะมีบทเรียนจากหลายเหตุการณ์ที่สามารถบรรเทาความเสียหายได้อย่างมากหากมีระบบการแจ้งเตือนที่ดีและเข้าถึงประชาชนอย่างทั่วถึง
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่แม้ไทยจะไม่สามารถพยากรณ์ได้ล่วงหน้า แต่การแจ้งเหตุก็ล่าช้าอย่างมาก ถึงขนาดที่บางคนได้ SMS เมื่อผ่านไปแล้วเกิน 1 วัน หรือยังไม่ได้ข้อความเลย แม้กระทั่ง Line Alert ที่รัฐบาลเคยประชาสัมพันธ์เป็นช่องทางแจ้งเตือน ก็ส่งข้อความมาในเวลา 16.41 น. หลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว 3 ชม. เพื่อแจ้งให้ประชาชนเข้าอาคารและที่พักได้ โดยไม่มีการแจ้งเหตุแผ่นดินไหวที่ทันท่วงทีแต่อย่างใด
ประชาชนจึงอยู่ในความสับสน ทั้งไม่แน่ใจว่าเป็นเหตุแผ่นดินไหวหรือไม่ หรือวิธีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเป็นอย่างไร รวมถึงเมื่อไม่เคยมีแผนการเพื่อรับมือเหตุภัยพิบัติที่กระทบต่อโครงสร้างคมนาคม ทำให้ประชาชนต้องเดินกลับที่พักเอง หรือผู้ที่เดินทางด้วยรถก็อาจใช้เวลาถึง 7 ชม. เพื่อเดินทางท่ามกลางการจราจรในกรุงเทพที่เป็นอัมพาต
ได้แต่หวังว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะไม่เป็นเพียงหนึ่งในบทเรียนราคาแพงที่ถูกพับเก็บไว้รวมกับบทเรียนที่ผ่านมา และเราจะมีระบบแจ้งเตือนที่พึ่งพาได้ในอนาคตอันใกล้นี้เสียที…เพราะทุกวินาที คือชีวิต
ผู้เขียน
ภัชชา ธำรงอาจริยกุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 38 ฉบับที่ 12871 วันพุธที่ 2 เมษายน 2568
หน้า 8 (ล่างซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”