เกี่ยวกับเอกสาร
สถานการณ์การค้าโลกในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาสะท้อนถึงการค้าโลกที่ไร้ระบบระเบียบ (Global Trade Disorder) อย่างชัดเจน โดยที่ผ่านมา เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศอยู่ในสภาวะแบ่งออกเป็นหลายขั้ว (Multipolarity) แต่สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการทวงคืนสถานะผู้นำโลกแบบขั้วเดียว (Unipolarity) ผ่านกลไกการขึ้นภาษีนำเข้าแต่ฝ่ายเดียว (Unilateral Tariff) ต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2568 และประเทศทั่วโลกก็ตอบสนองด้วยวิธีการต่างๆ โดยที่องค์การการค้าโลก (World Trade Organization – WTO) ซึ่งเป็นเวทีการเจรจาเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและเปิดเสรีทางการค้า รวมถึงมีกลไกแก้ไขข้อขัดแย้งเพื่อป้องกันการเกิดสงครามการค้าของประเทศสมาชิกทั่วโลก มีอำนาจและบทบาทที่จำกัดมาก โดยทำได้เพียงป้องปรามประเทศสมาชิกไม่ให้ทำสงครามการค้าและแจ้งเตือนว่าการทำสงครามการค้าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐโลกครั้งใหญ่ สถานการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่า ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าเป็นรายได้สำคัญของประเทศต้อง “พึ่งตัวเอง” อย่างมาก ท่ามกลางสนามสงครามการค้าโลกที่ปะทุขึ้นอีกครั้งตั้งแต่การดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ของประธานาธิบดีทรัมป์
แม้บางประเทศอย่างจีน จะพยายามใช้กลไกการค้าพหุภาคี (Multilateral Trading System) เป็นหนึ่งในการรับมือกับการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยการยื่นฟ้องต่อ WTO ว่าการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ขัดต่อกฎระเบียบของ WTO และจีนก็ต้องการแสดงให้โลกเห็นว่าจีน เป็นประเทศที่ปฏิบัติตามระเบียบการค้าโลก (Global Trade Order) สวนทางกับสหรัฐฯ ที่เป็นผู้ทำลายระเบียบการค้าโลก แต่จีนเองก็ตระหนักดีว่าทุกประเทศต้องพึ่งตัวเองท่ามกลางการค้าโลกที่ไร้ระเบียบ จีนจึงขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้สหรัฐฯ 34% เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2568 และเพิ่มเป็น 84% เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2568 และล่าสุด ก็ได้เพิ่มเป็น 125% เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2568 รวมถึงดำเนินมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม ควบคู่ไปกับการใช้กลไกพหุภาคี เช่น ควบคุมการส่งออกสินค้าบางชนิดไปยังสหรัฐฯ และคว่ำบาตรบริษัทสหรัฐฯ หลายแห่ง พร้อมส่งสัญญาณว่าจีนไม่หวั่นไหวต่อการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ
ในขณะที่พันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ อย่างสหภาพยุโรป (European Union – EU) ใช้กลยุทธ์ผสมผสานในการรับมือกับ Reciprocal Tariff ทั้งการประณาม Reciprocal Tariff การขึ้นภาษีตอบโต้ 25% ทั้งในหมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม โดยมุ่งเป้าไปที่รัฐฐานเสียงสำคัญของประธานาธิบดีทรัมป์ การใช้กลไกพหุภาคีเช่นเดียวกับจีนโดยการยื่นฟ้อง WTO แต่สิ่งที่ EU ดำเนินต่างจากจีน คือ “การเข้าเจรจา” โดย EU เสนอการลดภาษีนำเข้า 0% เพื่อแลกกับการที่สหรัฐฯ ลดภาษีให้ EU 0% เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2568 อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ปฏิเสธข้อเสนอ โดยให้เหตุผลว่าข้อเสนอของ EU ยังไม่เพียงพอจะทำให้สหรัฐฯ ลดการขาดดุลกับ EU ได้ทั้งหมด แต่ EU ต้องนำเข้าพลังงานจากสหรัฐฯ มูลค่า 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น จึงจะทำให้สหรัฐฯ เลิกขาดดุลการค้ากับ EU การตอบสนองของสหรัฐฯ ต่อข้อเสนอของ EU สะท้อนว่า สหรัฐฯ มีสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการจากแต่ละประเทศชัดเจนอยู่แล้ว โดยในกรณีของ EU คือการนำเข้าพลังงานมูลค่า 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงต้องการให้ EU ลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff Barriers – NTB) ด้วย
การตอบสนองของสหรัฐฯ ต่อประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างเวียดนามก็มีความน่าสนใจเช่นกัน โดยแม้เวียดนามจะให้ข้อเสนอที่สหรัฐฯ น่าจะพึงพอใจในการลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% แลกกับการลดภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับ EU เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2568 แต่กลับไม่เป็นผลเช่นเดียวกัน โดยนายปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการค้าและการผลิตของประธานาธิบดีทรัมป์ ผู้ผลักดัน Reciprocal Tariff คนสำคัญ และเป็นผู้มีจุดยืนแข็งกร้าวต่อการค้ากับจีน ปฏิเสธข้อเสนอของเวียดนาม เช่นเดียวกับที่ปฏิเสธ EU โดยให้เหตุผลว่าข้อเสนอของเวียดนาม ยังไม่น่าพึงพอใจ สิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการจากเวียดนาม คือ การลด NTB ซึ่งในรายงาน National Trade Estimate ประจำปี 2568 ของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (Office of the United States Trade Representative – USTR) ระบุถึง NTB ของเวียดนามไว้จำนวนมาก อีกทั้งนายนาวาร์โรยังกล่าวพาดพิงว่าจีนใช้เวียดนามเป็นทางผ่านในการส่งออกสินค้าและขโมยทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
ผลกระทบและโอกาสของไทยท่ามกลางการค้าโลกที่ไร้ระเบียบ
Reciprocal Tariff ต่อไทยที่สหรัฐฯ ลดลงจาก 72% เหลือ 37% และ 36% และล่าสุดเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2568 เหลือเพียง 10% เทียบเท่ากับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ยกเว้น จีนที่ยังคงได้รับการจัดเก็บ Reciprocal Tariff ที่ 145% และแคนาดาและเม็กซิโกที่ 25% (เว้นแต่เม็กซิโกและแคนาดาจะปฏิบัติตามข้อตกลงสหรัฐอเมริกา-เม็กซิโก-แคนาดา (Canada–United States–Mexico Agreement – CUSMA) จะส่งผลทางตรงให้การส่งออกสินค้าหลายรายการไปสหรัฐฯ ลดลง เนื่องจากสินค้าไทยจะมีความสามารถในการแข่งขันด้านราคาลดลงในตลาดสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่ต่ำกว่า ในขณะเดียวกัน ไทยก็จะมีความสามารถในการแข่งขันด้านราคาเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่ถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงกว่า โดยผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติจาก Trade Map ของ International Trade Center (ITC) พบว่าสินค้าที่ไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐ สูงที่สุด 3 อันดับแรกจะเผชิญผลกระทบและโอกาส ดังนี้
1. สินค้าที่ไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ได้แก่ โทรศัพท์และโทรศัพท์ไร้สาย (พิกัดศุลกากร 8517) ที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากถึง 12% ของการส่งออกสู่ตลาดโลกรวม และมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ใหญ่เป็นอันดับ 5 จะมีความสามารถในการแข่งขันเหนือคู่แข่งในตลาดสหรัฐฯ อย่างจีน (ส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1) ที่ Reciprocal Tariff สูงถึง 145% แต่ไทยจะแข่งขันด้านราคาในตลาดสหรัฐฯ ได้ลดลงเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างเม็กซิโก (ส่วนแบ่งตลาดอันดับ 3) ซึ่งถูกสหรัฐฯ เก็บ Reciprocal Tariff ที่ 25%
2. สินค้าที่ไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูงสุดเป็นอันดับ 2 ได้แก่ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (พิกัดศุลกากร 8471) ที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากถึง 11% ของการส่งออกสู่ตลาดโลกรวม และมีส่วนแบ่งใหญ่เป็นอันดับ 5 ในตลาดสหรัฐฯ โดยไทยจะมีความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งอย่างเม็กซิโก (ส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1) ได้มากขึ้น เนื่องจากเม็กซิโกได้รับการจัดเก็บภาษีถึง 25% รวมคู่แข่งอย่างจีน (ส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2) ที่ถูกจัดเก็บภาษี 145%
3. สินค้าที่ไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูงสุดเป็นอันดับ 3 ได้แก่ กลุ่มยางล้อ (พิกัดศุลกากร 8471) ที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ 6% ของการส่งออกสู่ตลาดโลกรวม และมีส่วนแบ่งตลาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ในตลาดสหรัฐฯ โดยไทยจะมีความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งอย่างเม็กซิโก (ส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2) มากขึ้น เนื่องจากเม็กซิโกถูกจัดเก็บภาษีสูงถึง 25% รวมถึงแคนาดา (ส่วนแบ่งตลาดอันดับ 3) ที่ 25% เช่นกัน ส่วนจีนไม่ใช่คู่แข่งอันดับต้นของไทยในสินค้าดังกล่าว
นอกเหนือจากผลกระทบทางตรงต่อสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 18% ของมูลค่าการส่งออกสู่ตลาดโลกแล้ว ไทยยังจะได้รับผลกระทบทางอ้อมอีกหลายประการ ทั้งจากภาวะการชะลอตัวของความต้องการสินค้าโดยรวมของโลกจากผลของการเกิดสงครามการค้า ภาวะชะลอตัวของการลงทุน ผลกระทบทางอ้อมจากการส่งออกวัตถุดิบขั้นต้นและขั้นกลางไปยังเม็กซิโก แคนาดา และจีน แล้วส่งต่อไปยังสหรัฐฯ ตลอดจนปัญหาการทะลักของสินค้าจีนเข้ามายังไทย ซึ่งเป็นปัญหาต่อไทยอยู่เดิม ก็จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น จากผลของการที่จีนโดนขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสูงถึง 145% ทำให้สินค้าไทยจะแข่งขันกับสินค้าจีนได้ยากมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
ทางรอดของโลกและไทย
1. การเจรจาทั้งแบบพหุภาคีและทวิภาคี แม้สหรัฐฯ จะพักยกการขึ้นกำแพงภาษีการค้ากับประเทศทั่วโลกเป็นเวลา 90 วัน และลด Reciprocal Tariff ให้เกือบทุกประเทศเพียง 10% แต่การแก้ไขปัญหาความไร้ระเบียบของการค้าโลกที่จะส่งผลดีต่อทั้งไทยเองและทุกฝ่ายในระยะยาวคือ “การพูดคุยเจรจา” ทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคี ในเชิงสร้างสรรค์ โดยแม้ไทยจะยังไม่ได้เข้าหารือแบบทวิภาคีกับสหรัฐฯ และยังไม่ได้ให้ข้อเสนอใดๆ แต่บทเรียนจาก EU และเวียดนาม สะท้อนว่า สหรัฐฯ มีประเด็นที่จะหยิบยกขึ้นมาเจรจากับไทยอยู่แล้ว ทั้งที่เกี่ยวกับการลดภาษีและการให้ไทยนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเติม เพื่อการลดการขาดดุลการค้า รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวกับ NTB เพื่อให้สหรัฐฯ ได้ประโยชน์มากขึ้น โดยเฉพาะที่ปรากฏในรายงาน National Trade Estimate ประจำปี 2568
ก่อนการเข้าเจรจากับสหรัฐฯ ไทยจึงควรเตรียมความพร้อมให้รัดกุมมากที่สุดในการตอบสนองต่อประเด็นใดๆ ก็ตามที่สหรัฐฯ จะหยิบยกขึ้นมาขอให้ไทยปฏิบัติตาม เพื่อแลกกับการลด Reciprocal Tariff ซึ่งไทยจะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและรอบด้านถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในประเทศจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในประเด็นการนำเข้าสินค้าสินค้าบางรายการจากสหรัฐฯ รวมถึงการที่สหรัฐฯ จะเรียกร้องให้ไทยปรับแก้ไข NTB ของไทยในรายงาน National Trade Estimate ประจำปี 2568 เช่น การห้ามและจำกัดการนำเข้าเอธานอล การกำหนดให้มีใบอนุญาตนำเข้าสินค้า อาทิ ไม้ ปิโตรเลียม เครื่องจักรอุตสาหกรรม สิ่งทอ ยา เครื่องสำอาง อาหาร และสินค้าเกษตรบางชนิด การเก็บค่าธรรมเนียมการนำเข้า (Import Fee) อุปสรรคทางศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าสินค้าประเภทนม อุปสรรคทางการค้าจากมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปรูปแบบใหม่ ๆ การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ที่ไทยยังคงอยู่ใน Watch List ในรายงาน Special 301 ประจำปี 2567 ประเด็นด้านภาคบริการ ทั้งบริการโสตทัศนูปกรณ์ ภาคการเงิน อุปสรรคด้านการค้าดิจิทัลและ E-Commerce อุปสรรคด้านการลงทุน ประเด็นด้านแรงงาน รัฐวิสาหกิจ ตลอดจนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ นอกจากนี้ ไทยยังควรเตรียมชี้แจงในประเด็นที่สหรัฐฯ อ้างว่าธนาคารแห่งประเทศไทยบิดเบือนค่าเงินเพื่อให้ได้เปรียบทางการค้าด้วย ทั้งนี้ ทางการไทยควรประสานความร่วมมือกับหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย The American Chamber of Commerce in Thailand (AMCHAM) อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การเตรียมตัวและการเข้าเจรจาเป็นไปอย่างราบรื่นมากที่สุด
2. การหาตลาดทางเลือกที่มีศักยภาพ ไทยควรหาตลาดทางเลือกเพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งในระดับสูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่มีทิศทางการดำเนินนโยบายทางการค้าแต่ฝ่ายเดียวกับประเทศทั่วโลก โดยอาจเร่งเปิดตลาดกับกลุ่มประเทศ Middle Power ที่มีศักยภาพอย่างออสเตรเลีย อินเดีย เกาหลีใต้ ตุรกี และแอฟริกาใต้ ซึ่งรวมกันแล้วคิดเป็นกว่า 12% ของการส่งออกไทยสู่ตลาดโลก รวมถึงเร่งการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement – FTA) กับ EU และใช้อาเซียนเป็นฐานในการร่วมมือกับ EU รวมถึงเร่งเปิดตลาดกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ นอกจากนี้ ยังควรเร่งเปิดตลาดกับซาอุดีอาระเบียที่ไทยเพิ่งฟื้นสัมพันธ์ทางการทูต รวมถึงกลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council – GCC) ที่มีกำลังซื้อสูงและต้องการสินค้าหลากหลาย เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิตสินค้าบางประเภท โดยเฉพาะสินค้าฮาลาล
3. การส่งเสริมการผลิตและการค้าในภูมิภาคมากขึ้น โดยอาเซียนจะเป็นหนึ่งในคำตอบที่ไม่อาจมองข้ามท่ามกลางสงครามการค้าในครั้งนี้ แต่การรวมกลุ่มอาเซียนเพื่อเข้าเจรจากับสหรัฐฯ อาจไม่ได้ผล เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์ ไม่ได้ให้ความสำคัญต่ออาเซียนในฐานะกลุ่มประเทศ แต่เน้นการเจรจาแบบรายประเทศ ดังนั้น การสร้างห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งและยั่งยืน โดยการเพิ่มการค้าและการลงทุนระหว่างกัน เพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้าและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาว จึงน่าจะเป็นคำตอบสำหรับประเทศในอาเซียน โดยอาเซียนมีประชากรรวมกันกว่า 650 ล้านคน มีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และมีความหลากหลายทางทรัพยากรและอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานอาเซียนยังมีความท้าทายหลายประการ เช่น
การปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานและกฎระเบียบที่แตกต่างกัน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย ซึ่งไทยและอาเซียนควรร่วมมืออย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อให้ภูมิภาคสามารถก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านี้ได้ในเร็ววัน เพื่อให้สามารถเสริมสร้างเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาคร่วมกันให้แข็งแรงและยั่งยืนได้ในระยะยาว ที่ผ่านมา ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าโลกเผชิญวิกฤตนานับประการ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สงคราม โรคระบาด ภัยธรรมชาติ การ Disrupt ของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร รวมถึงภาวะการเติบโตต่ำและไม่เท่าเทียมของเศรษฐกิจโลก ซึ่งการรับมือกับวิกฤตเหล่านี้ ล้วนต้องการให้ทั่วโลกหันมาร่วมมือกัน (Cooperation) มากกว่าการแข่งขัน (Competition) จนสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการเผชิญหน้า (Confrontation) ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบ ซ้ำเติมวิกฤตของโลกที่มีอยู่เดิม ดังนั้น ท่ามกลางคลื่นลมแห่งความผันผวนทางการค้าโลกที่ถาโถมเข้าใส่ประเทศไทยและนานาประเทศ การยืนหยัดอยู่บนเส้นทางแห่งการเจรจาและการร่วมมือกันอย่างจริงใจจะเป็นแสงนำทางสู่ทางรอด อีกทั้งการพูดคุยบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันด้วยความเข้าใจและความเคารพซึ่งกันและกัน ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก จะเป็นสะพานที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์ รวมถึงจะนำไปสู่ระบบการค้าที่ยุติธรรมและยั่งยืนสำหรับทุกคน นอกจากนี้ การปรับปรุงและปฏิรูป WTO ให้มีความเข้มแข็ง ทันสมัย และทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริง ดังที่ได้มีการหยิบยกขึ้นหารือกันมาเป็นระยะเวลานานในประเด็นนี้ ก็จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะเปิดประตูสู่ยุคใหม่แห่งการค้าที่ปราศจากอุปสรรคและเต็มไปด้วยโอกาสสำหรับทุกภาคส่วนของสังคมโลก