บทความวิชาการ

เร่งพัฒนาทักษะผู้ประกอบการอาเซียนสู่ยุค AI

เกี่ยวกับเอกสาร

การประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2025 ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะผู้ประกอบการในภูมิภาคอาเซียน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

การพัฒนาทักษะผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงแนวโน้มตลาดแรงงานในอนาคต ยุคปัจจุบันโลกขับเคลื่อนโดย AI, Big Data, ระบบอัตโนมัติ (Automation) และเศรษฐกิจดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อเศรษฐกิจและตลาดแรงงานทั่วโลก

         รายงาน Future of Jobs Report 2025 ได้วิเคราะห์แนวโน้มตลาดแรงงานในอนาคต ปี 2025-2030 โดยสรุปข้อมูลจากการทำแบบสำรวจนายจ้างทั่วโลกพบว่า ผู้ประกอบการมีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะด้าน AI และ Big Data มากขึ้น โดยในปี 2023 ความต้องการบุคลากรด้านนี้เติบโตสูงถึง 96% นอกจากนั้นบริษัททั่วโลก 86% เห็นว่า AI และ Big Data จะเปลี่ยนแปลงวิธีการทำธุรกิจภายในปี 2030

รายงานฉบับนี้คาดการณ์ว่า ปี 2030 จะมีตำแหน่งงานใหม่กว่า 170 ล้านตำแหน่ง ขณะเดียวกัน 92 ล้านตำแหน่งงานจะหายไป  ​อาชีพที่เติบโตเร็วที่สุดในปี 2030 คือ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data, AI, Cybersecurity, Fintech และ Digital Marketing  อาชีพที่ลดลงมากที่สุด คือ งานธุรการ งานบัญชี และงานที่สามารถถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ  ผู้ประกอบการจึงต้องเข้าใจแนวโน้มเหล่านี้เพื่อออกแบบกลยุทธ์ทางธุรกิจและพัฒนาทักษะที่จำเป็น

อาเซียนซึ่งเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่กำลังก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจดิจิทัล มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนจะปรับเพิ่มจาก 300 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2025 เป็น 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2030   ดังนั้นการลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะดิจิทัลและการปฏิรูปการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานสู่ยุค AI จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ

ข้อมูลจากรายงานระบุว่า บริษัท 86% ในอาเซียนต้องการจ้างพนักงานที่มีทักษะใหม่ (New skills hiring) เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 70%  ประเทศในอาเซียนที่ลงทุนในการพัฒนาทักษะของผู้ประกอบการมากที่สุด ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งมีโครงการระดับชาติที่มุ่งเน้นการ Reskilling และ Upskilling

โดยภาพรวม อาเซียนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะผู้ประกอบการและได้ดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนการเติบโตของผู้ประกอบการในภูมิภาค โดยได้จัดทำข้อตกลงกรอบการทำงานเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (DEFA)  และได้ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลและนวัตกรรม สนับสนุนการศึกษาและการฝึกอบรมที่มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมสำหรับงานในอนาคต เช่น

ASEAN Digital Skills Vision 2025 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นให้แรงงานในอาเซียนมีทักษะด้านดิจิทัลและด้าน AI เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และโครงการ ASEAN SME Academy ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ฝึกอบรมออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อช่วยพัฒนาทักษะด้านการบริหารและเทคโนโลยี

ประเทศในอาเซียนที่ลงทุนและพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ เช่น สิงคโปร์ ได้มีโครงการ  SkillsFuture Singapore (SFS) โดยให้เงินทุนสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตและพัฒนาทักษะเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการและพนักงาน  เวียดนาม ได้ประกาศการดำเนินนโยบาย Build for the AI future เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน AI พัฒนานโยบายและกรอบการกำกับดูแล AI และมีโครงการพัฒนาทักษะและการศึกษาในด้าน AI ที่มุ่งเน้นการฝึกอบรมและการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับตลาดแรงงานในอนาคต

มาเลเซีย ได้ก่อตั้งสำนักงานปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ (NAIO) เมื่อปี 2024 มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายและกำกับดูแลด้าน AI ของประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อเร่งการนำ AI มาใช้ส่งเสริมนวัตกรรม และรับประกันการพัฒนา AI อย่างมีจริยธรรม รวมถึงศึกษาการประเมินผลกระทบของ AI ต่อการดำเนินงานของภาครัฐ

ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ยุค AI ผู้ประกอบการต้องลงทุนการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล เช่น การใช้ AI การวิเคราะห์ข้อมูล และการตลาดออนไลน์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ  สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับผู้ประกอบการรายอื่นทั้งในและต่างประเทศ เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร ความรู้ และตลาดใหม่ ๆ  รวมทั้งควรมีความยืดหยุ่นและพร้อมที่จะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี พฤติกรรมของผู้บริโภค หรือแนวโน้มทางเศรษฐกิจ

การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และพัฒนาทักษะใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันและตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการควรติดตามและใช้ประโยชน์จากนโยบายและโครงการสนับสนุนของอาเซียน เช่น DEFA เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตและขยายธุรกิจในยุคดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน

ผู้เขียน
น้ำผึ้ง ทัศนัยพิทักษ์กุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 38 ฉบับที่ 12831 วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top