บทความวิชาการ

แนวโน้มเศรษฐกิจอาเซียนปี 2568

เกี่ยวกับเอกสาร

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียในภาพรวมว่าเป็นการเติบโตที่มั่นคงท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของนโยบายโลก จากรายงาน Asian Development Outlook ธันวาคม 2567  ได้ปรับเพิ่มการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 2567 จากที่เคยคาดการณ์เมื่อเดือนกันยายนว่าจะขยายตัว 4.5% เป็น 4.7%

เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของการส่งออกสินค้าในภาคการผลิต และการใช้จ่ายภาครัฐในโครงการลงทุนในเศรษฐกิจขนาดใหญ่  รวมทั้งได้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 2567 และปี 2568 ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

ประเทศในอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ – การเติบโตยังคาดว่าจะอยู่ 6% ในปี 2567 และเพิ่มเป็น 6.2% ในปี 2568 โดย GDP เติบโตเฉลี่ยที่ 5.8% ใน 3 ไตรมาสแรก จากการบริโภคภาคครัวเรือนและการลงทุนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การลดลงของอัตราเงินเฟ้อและการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมีส่วนสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตเพิ่มขึ้น ส่วนด้านอุปทาน ภาคบริการ การก่อสร้าง และการผลิตมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโต โดยเฉพาะภาคบริการที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก

มาเลเซีย – ในปี 2567 คาดว่าขยายตัว 5% และจะขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ 4.6% ในปี 2568 ได้รับแรงหนุนต่อเนื่องจากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น ภาคการลงทุนคงที่  ส่วนการใช้จ่ายของภาครัฐปรับตัวดีขึ้น การผลิตและการลงทุนโดยเฉพาะจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น Sarawak-Sabah Link Road และ Pan Borneo Highway

เวียดนาม – การเติบโตในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 6.4% และปรับเพิ่มเป็น 6.6% ในปี 2568  สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มการเติบโตที่สดใสอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงแรกของปี 2567 ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐที่สนับสนุนการเติบโตของการส่งอออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของเวียดนาม  การลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้น  การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ แม้ปี 2567 จะเผชิญกับพายุไต้ฝุ่นยางิ แต่รัฐบาลตอบสนองอย่างรวดเร็ว จึงช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

ประเทศไทย – มีการปรับเพิ่มการเติบโตของ GDP ในปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.6% สะท้อนถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่ดีขึ้นและการฟื้นตัวของการส่งออก  ในปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 2.7%  ทั้งนี้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 เศรษฐกิจโตจากการใช้จ่ายของภาครัฐ การท่องเที่ยว และภาคการผลิตที่ขยายตัว อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบการเติบโตกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยยังคงเติบโตต่ำ

ปี 2568 เศรษฐกิจอาเซียนยังคงเผชิญกับความท้าทายจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ การค้าโลกที่แบ่งขั้ว และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อการเติบโตในระยะยาว  ทั้งนี้ประเด็นล่าสุดที่ต้องจับตามอง คือ การกลับมาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งอาเซียนต้องเตรียมพร้อมรับมือกับนโยบายใหม่ เนื่องจากสหรัฐเป็นหนึ่งในพันธมิตรทางการค้าของอาเซียนและมีบทบาทสำคัญในการลงทุน ปี 2566 สหรัฐลงทุนในอาเซียนมากถึง 74.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (41% ของการลงทุนทั้งหมดในอาเซียน)

          ความท้าทายและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอาจเป็นทั้งอุปสรรคและโอกาสของอาเซียน โดยอาเซียนสามารถใช้ความท้าทายเหล่านี้เป็นแรงผลักดันในการพัฒนากลยุทธ์และสร้างความยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับสถานการณ์ ทั้งการลงทุนในเทคโนโลยีและแรงงาน และการสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและขยายความร่วมมือในอาเซียน จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว

ผู้เขียน
ณัฐจารีย์ เพ็ชรร่วง
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 38 ฉบับที่ 12806 วันพุธที่ 1 มกราคม 2568
หน้า 12 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top