เกี่ยวกับเอกสาร
การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติหลากหลายและวัฒนธรรมที่โดดเด่น เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น ควบคู่กับการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม
หลังยุคโควิด-19 การท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เร่งปรับตัวอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ตามรายงานขององค์การการท่องเที่ยวแห่งสหประชาชาติ (UN Tourism) ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกมีอัตราการฟื้นตัวที่ 65% ของระดับก่อนเกิดโควิด-19 โดยเริ่มตั้งแต่ต้นปี 2023 และคาดว่าการท่องเที่ยวนานาชาติจะฟื้นตัวเต็มรูปแบบในปี 2024
ASEAN Ecotourism Standard หรือมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอาเซียน ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยประเทศสมาชิกเพื่อตอบโจทย์การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ในปี 2024 อาเซียนได้มีการประชุมและกำหนดร่างเอกสารมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มีเนื้อหาเกี่ยวกับ
1. หลักเกณฑ์มาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอาเซียน ซึ่งแบ่งออกเป็น 65 เกณฑ์การประเมิน ภายใต้ประเด็นหลัก 9 ด้าน ครอบคลุมการจัดกิจกรรม การบริหารจัดการสิ่งอำนวยความสะดวก และการให้บริการนักท่องเที่ยวด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มคุณภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่น เพิ่มความตระหนักรู้ในหมู่นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการให้ปฏิบัติอย่างยั่งยืน
2. คู่มือการตรวจประเมินและการรับรอง เพื่อใช้เป็นคู่มืออ้างอิงสำหรับคณะกรรมการของอาเซียนในการประเมินและรับรองสถานประกอบการด้านการท่องเที่ยว และผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวที่สนใจขอรับการรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอาเซียน
มาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอาเซียนยังเป็นกลไกที่ช่วยแก้ปัญหาสำคัญ เช่น การแอบอ้างความยั่งยืนโดยไม่มีการปฏิบัติจริง (greenwashing) การขาดความเข้าใจในหลักการพื้นฐานของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และยังช่วยส่งเสริมแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวระดับชาติของประเทศสมาชิก เช่น อินโดนีเซียได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมชุมชนท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มาเลเซียเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
สิงคโปร์ดำเนินโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่เน้นสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพด้านความยั่งยืนของธุรกิจในทุกขั้นตอนและเตรียมความพร้อมให้ธุรกิจสามารถพัฒนาบุคลากรและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อรองรับโอกาสจากการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบาย IGNITE TOURISM THAILAND เพื่อมุ่งผลักดันประเทศสู่เป้าหมายการเป็น Tourism Hub ที่สำคัญของโลก
การท่องเที่ยวเชิงนิเวศในอาเซียนมีศักยภาพที่จะสร้างรายได้และการจ้างงานที่ยั่งยืนรายงานขององค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO) ชี้ให้เห็นว่าการท่องเที่ยวเชิงนิเวศสามารถสร้างโอกาสในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทและชุมชนชายขอบที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์
นอกจากนั้น การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การตลาดออนไลน์และการจองกิจกรรมผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ยังช่วยขยายโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายเล็กในอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ที่มีการจัดตั้งโครงการชุมชนต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่อสนับสนุนชาวบ้านในการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน
ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยควรเร่งพัฒนากิจกรรมที่เน้นความร่วมมือกับชุมชนและการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนาสินค้าและบริการ ที่มีคุณภาพสูงและตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดทัวร์เดินป่า การเรียนรู้วิถีชีวิตพื้นถิ่น ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน เช่น ที่พักแบบ Eco-lodge ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนและลดการใช้ทรัพยากร
สร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วน เช่น การร่วมมือกับองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติหรือมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นเพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การตลาดที่โปร่งใสและไม่แอบอ้างความยั่งยืนโดยไม่มีการปฏิบัติจริง เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือและดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ใส่ใจในความยั่งยืน
การท่องเที่ยวเชิงนิเวศไม่ได้เป็นเพียงโอกาสในการสร้างรายได้ แต่ยังเป็นกลไกสำคัญในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของอาเซียน การดำเนินงานที่ยั่งยืนจะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้อาเซียนเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลกที่ยั่งยืนและมีคุณภาพในอนาคต
ผู้เขียน
น้ำผึ้ง ทัศนัยพิทักษ์กุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12801 วันพุธที่ 25 ธันวาคม 2567
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”