เกี่ยวกับเอกสาร
อาเซียนกำลังก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลระดับโลก ด้วยมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลที่ Boston Consulting Group คาดว่าจะเติบโตสูงเป็น 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 ขณะที่การเดินหน้าผลักดัน “ข้อตกลงกรอบเศรษฐกิจดิจิทัล” หรือ Digital Economy Framework Agreement (DEFA) ให้สำเร็จจะเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรมดิจิทัลข้ามพรมแดนและปลดล็อกศักยภาพเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียนให้เติบโตเป็น 2 เท่า หรือเป็น 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030 ผู้ประกอบการจึงควรเตรียมพร้อมลงทุนควบคู่กับการเพิ่มทักษะเพื่อคว้าโอกาสจาก DEFA และเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาอาเซียนเผชิญกับอุปสรรคหลายที่ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น กฎระเบียบการค้าการลงทุนที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ซึ่งทำให้ธุรกิจขยายตัวได้ยากและลดขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะ MSMEs ที่สามารถเข้าถึงตลาดได้อย่างจำกัด นอกจากนี้ ข้อจำกัดเกี่ยวกับการไหลเวียนของข้อมูลและกฎระเบียบที่ไม่สอดคล้องกันยังทำให้การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในอาเซียนล่าช้าและต้นทุนสูง
DEFA จึงถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น โดยมุ่งเน้นสร้างเงื่อนไขที่เอื้อให้อาเซียนกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลที่แข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายสำคัญได้แก่ 1. เร่งการเติบโตของการค้าดิจิทัลและ E-Commerce ข้ามพรมแดน 2. สร้างสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัย
3. ส่งเสริมให้ระบบดิจิทัลของแต่ละประเทศเชื่อมต่อและทำงานร่วมกันได้ (Interoperability) และ 4.เพิ่มการมีส่วนร่วมของ MSMEs ในเศรษฐกิจดิจิทัล
ปัจจุบันการเจรจา DEFA มีทิศทางที่ดีและคืบหน้าแล้วมากกว่าครึ่ง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จ
ในปี 2568 โดยมี 9 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1. การค้าดิจิทัล โดยลดขั้นตอนและเพิ่มประสิทธิภาพทางศุลกากรด้วยการต่อยอดจาก ASEAN Single Window และการพัฒนาระบบเอกสารศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์
2. E-Commerce โดยยกระดับข้อตกลง E-Commerce ของอาเซียนและ RCEP ที่มีอยู่เดิม กำหนดกฎระเบียบและรายการสินค้าต้องห้ามสำหรับการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ลดต้นทุน และเพิ่มโอกาสให้ MSMEs เข้าถึงตลาดต่างประเทศได้ง่ายขึ้น
3. ระบบการชำระเงินและใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์ โดยสนับสนุนการใช้ QR Code และ e-Wallet
ในการชำระเงินข้ามพรมแดน รวมถึงผลักดันการใช้ใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดข้อผิดพลาดและเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตาม 4. Digital ID โดยมุ่งพัฒนา Digital ID ให้ใช้งานข้ามพรมแดนได้สะดวก เช่น
การผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง 5. การไหลเวียนและการคุ้มครองข้อมูลข้ามพรมแดน โดยให้ความสำคัญและยึดตามกรอบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอาเซียน
6. ความมั่นคงทางไซเบอร์ โดยส่งเสริมความร่วมมือและสร้างสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัย
7. ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีใหม่ โดยส่งเสริมความร่วมมือเพื่อกำหนดมาตรฐานและกฎระเบียบสำหรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) 8. การเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะสูง เช่น การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี การให้ใบอนุญาตทำงานสำหรับคู่สมรส และ
การวีซ่าผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และ 9. นโยบายการแข่งขัน โดยส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม โปร่งใส และมีการคุ้มครองผู้บริโภค
หาก DEFA มีการลงนามแล้วเสร็จ คาดว่าจะส่งผลให้ภาคธุรกิจในอาเซียนสามารถขยายตลาดการค้าการลงทุนและส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตอย่างมาก อีกทั้งจะช่วยดึงดูดการลงทุนด้านเศรษฐกิจดิจิทัลเข้ามายังอาเซียนมากขึ้น ซึ่งก็จะเกิดขึ้นพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานในธุรกิจดิจิทัลของภูมิภาค เช่น AI และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งจะส่งเสริมให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงบริการดิจิทัลได้อย่างทั่วถึง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นก้าวสำคัญที่จะพลิกโฉมอาเซียนให้ก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบและเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ ๆ ที่จะนำไปสู่การจ้างงานและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของอาเซียนอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืนต่อไป
ผู้เขียน
วรัญญา ยศสาย
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12796 วันพุธที่ 18 ธันวาคม 2567
หน้า 8 (ล่างซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”