เกี่ยวกับเอกสาร
การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในอาเซียนถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศสมาชิกในเวทีการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี 2023-2024 การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับกระแสการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ในอาเซียน ทั้งภาคการขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ ให้เป็นกลไกเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ และพัฒนาเศรษฐกิจในอาเซียนอย่างมีนัยสำคัญ
ธนาคารโลก (World Bank) ได้จัดทำตัวชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ (Logistic Performance Index หรือ LPI) เพื่อเป็นเครื่องมือในการประเมินโอกาสและความท้าทายที่นานาประเทศต้องเผชิญ
LPI เป็นดัชนีที่พัฒนาขึ้นโดยธนาคารโลกเพื่อช่วยชี้ให้เห็นถึงข้อท้าทายและโอกาสด้านประสิทธิภาพโลจิสติกส์การค้าของประเทศต่าง ๆ พร้อมเสนอแนวทางการปรับปรุง โดยมีระเบียบวิธีการดำเนินงานหลัก 2 ประการ ได้แก่ การสำรวจจากผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ เช่น ผู้ให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์ซึ่งให้ข้อมูลเชิงคุณภาพเกี่ยวกับ “ความเป็นมิตร” (Friendliness) ด้านโลจิสติกส์ของประเทศคู่ค้า และการใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์จากการติดตามห่วงโซ่อุปทาน เช่น การขนส่งทางทะเล อากาศ และไปรษณีย์
LPI มีการประเมินผลคะแนนด้านต่าง ๆ เช่น คะแนนด้านพิธีการศุลกากร โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งระหว่างประเทศ คุณภาพระบบโลจิสติกส์ ความตรงต่อเวลา ความสามารถด้านการติดตามและการตรวจสอบ เป็นต้น โดยตัวชี้วัดเหล่านี้จะแสดงถึงความเร็วและประสิทธิภาพการค้าระหว่างประเทศ
จากการจัดอันดับ LPI ปี 2023 ที่ผ่านมา สิงคโปร์ก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีประสิทธิภาพด้านการขนส่ง มีคะแนน (LPI Score) สูงเป็นอันดับที่ 1 ของโลกนำหน้าสหรัฐฯ จีน และนานาประเทศในสหภาพยุโรป สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน มาเลเซียอยู่อันดับที่ 31 ไทยอันดับที่ 37 ฟิลิปปินส์อันดับที่ 47 เวียดนามอันดับที่ 50 อินโดนีเซียอันดับที่ 63 กัมพูชาอันดับที่ 116 และสปป.ลาวอันดับที่ 120 (ขณะที่บรูไนและเมียนมาไม่ปรากฏข้อมูล)
ผลการจัดอันดับ LPI สะท้อนนัยสำคัญของสถานการณ์โลจิสติกส์ในอาเซียน 2 ประการ ได้แก่ ประการแรก การที่สิงคโปร์ก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีความพร้อมด้านระบบโลจิสติกส์อันดับ 1 ของโลกนั้น ตอกย้ำถึงความสำคัญของอาเซียนในฐานะเส้นทางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในจุดยุทธศาสตร์สำคัญอย่างช่องแคบมะละกา จุดรอยต่อเชื่อมโลกตะวันออกสู่ตะวันตก ซึ่งสิงคโปร์เป็นต้นแบบในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ รวมถึงการปรับปรุงกฎระเบียบในการลดขั้นตอนการนำเข้า-ส่งออก
ประการที่สอง หากพิจารณาผลการจัดอันดับ LPI เฉพาะกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน พบว่าประเทศสมาชิกมีสถานะด้านโลจิสติกส์ในระดับที่ค่อนข้างต่างกัน ตอกย้ำถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่หยั่งรากลึกของอาเซียนคือปัญหาด้านช่องว่างการพัฒนา
LPI เป็นเพียงหนึ่งในตัวชี้วัดที่มีผลต่อการประเมินความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ ทั้งนี้การมีตัวชี้วัดความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานสามารถเป็นจุดดึงดูดการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศได้ ประเทศสมาชิกอาเซียนจึงมีความจำเป็นต้องเร่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และการอำนวยความสะดวกในกระบวนการค้าระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม จากสถิติของ ASEAN Statistical Yearbook 2023 ชี้ให้เห็นว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศต่างมีความคืบหน้าและพัฒนาการในการขยายระยะทางการขนส่งทั้งทางถนน รางรถไฟ รวมถึงการพัฒนาท่าเรือและท่าอากาศยานในหลายประเทศ แม้พัฒนาการจะแตกต่างกันไปตามความพร้อม แต่สถิติข้างต้นเป็นที่ยืนยันว่าการปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานเป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ โจทย์สำคัญของอาเซียนคือทำอย่างไรให้การพัฒนาโลจิสติกส์ของอาเซียนให้สามารถเชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อและเสริมหนุนกันเพื่อรักษาเสถียรภาพห่วงโซ่อุปทานอาเซียนได้อย่างยั่งยืน
ผู้เขียน
กอปร์ธรรม นีละไพจิตร
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12786 วันพุธที่ 4 ธันวาคม 2567
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”