บทความวิชาการ
view 194 facebook twitter mail

การเมืองเรื่องสีเขียว

เกี่ยวกับเอกสาร

นับวันผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นจนสัมผัสได้อย่างชัดเจน ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ภัยธรรมชาติ สภาพอากาศ และฤดูกาลแปรปรวน นำไปสู่การเรียกร้องให้มีการดำเนินงานแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ซึ่งต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เพื่อผลักดันการดำเนินงานภายในประเทศและเป้าหมายในระดับโลก

อย่างไรก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าการเมืองมีอิทธิพลอย่างมากต่อนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศต่าง ๆ ไปจนถึงทิศทางวาระด้านสิ่งแวดล้อมในเวทีโลก จนสามารถกล่าวได้ว่านโยบายด้านสิ่งแวดล้อมจะเปลี่ยนไปตามทิศทางผู้นำประเทศ

กรณีที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือสหรัฐอเมริกา หนึ่งในผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ทิศทางนโยบายกลับขึ้นอยู่กับผู้นำแต่ละยุค ในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกของโดนัลด์ ทรัมป์ สหรัฐอเมริกาได้ถอนตัวออกจากความตกลงด้านสิ่งแวดล้อมสำคัญอย่างความตกลงปารีส

ต่อมาในสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดน สหรัฐอเมริกาก็กลับเข้าร่วมความตกลงปารีสอีกครั้ง และล่าสุดในการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ของทรัมป์ สหรัฐอเมริกาก็อาจจะถอนตัวจากความตกลงปารีสไปจนถึง UNFCCC ที่เป็นกรอบความตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำคัญของโลก นโยบายสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกาจึงมักถูกตั้งคำถามถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

แม้กระทั่งสหภาพยุโรปเอง การเลือกตั้งสภายุโรปที่ฝ่ายขวาได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นก็อาจส่งผลให้ความกระตือรือร้นของสหภาพยุโรปในเรื่องนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลดลง นอกจากนี้ การเมืองในสหภาพยุโรปเองก็มีผลอย่างมาก เนื่องจากมาตรการสิ่งแวดล้อมต้องได้รับความเห็นชอบจากหลายประเทศสมาชิก การผลักดันจากประเทศใหญ่จึงจะส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อนโยบายสิ่งแวดล้อม

เช่นกรณีมาตรการสิ่งแวดล้อมที่สำคัญอย่าง EUDR หรือมาตรการห้ามการนำเข้าสินค้าจากการตัดไม้ทำลายป่า ที่มีกำหนดบังคับใช้สิ้นปีนี้ก็ต้องเลื่อนการบังคับใช้ไปอีก 1 ปี ซึ่งการเลื่อนนี้เป็นผลมาจากการเรียกร้องของประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศในสหภาพยุโรปเองอย่างเยอรมนี

การประชุมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สำคัญอย่าง COP29 ณ บากู อาเซอร์ไปจาน ก็ประสบปัญหาจากการเมืองเช่นกัน เมื่อผู้นำหลายประเทศไม่เข้าประชุมนี้ทั้งฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา รัสเซีย บราซิล จนเกิดคำถามถึงการประชุมนี้จะขับเคลื่อนแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้จริงหรือไม่ รวมถึงเรื่องเงินทุนช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดจากประเทศพัฒนาแล้วก็มีความหวังริบหรี่

แม้แต่ไทยประเด็นสิ่งแวดล้อมก็มักถูกหยิบไปเชื่อมกับเศรษฐกิจ และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมยังได้รับความสำคัญน้อยกว่านโยบายด้านเศรษฐกิจสังคม นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนยังขาดความต่อเนื่อง ต้องอาศัยทิศทางการผลักดันของแต่ละรัฐบาล

อาเซียนซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมมากทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน ระบบนิเวศมหาสมุทร แต่การบรรลุนโยบายหรือมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลบังคับร่วมกันก็ต้องอาศัยความพยายามอย่างมาก รวมถึงประเทศสมาชิกเองก็ต้องเผชิญแรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อมจากนโยบายสิ่งแวดล้อมของต่างชาติด้วย ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การตัดไม้ทำลายป่า หรือการใช้พลังงาน

ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกที่เราต้องช่วยกันแก้ยังต้องอาศัยนโยบายทั้งในประเทศและในเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ การเมืองระหว่างประเทศและผู้นำของประเทศจึงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางอนาคตด้านสิ่งแวดล้อมทั้งเชิงบวกและเชิงลบ การให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมและดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่องจะช่วยผลักดันทิศทางการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศและของโลกไปอย่างยั่งยืนได้

ผู้เขียน
ภัชชา ธำรงอาจริยกุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12781 วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน 2567
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 194 facebook twitter mail
Top