บทความวิชาการ

‘อาเซียน’ กับ ‘ผลการเลือกตั้ง’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2567

เกี่ยวกับเอกสาร

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พ.ย. 2567 อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการค้าโลก เนื่องจากอาจตามมาด้วยการกีดกันทางการค้าที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่าในกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งและกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้งและทำสงครามการค้ากับจีน (Trade War) รอบใหม่ เศรษฐกิจโลกอาจหดตัวมากถึง 7% เทียบเท่าขนาดเศรษฐกิจฝรั่งเศสและเยอรมนีรวมกัน

การประเมินของ IMF ข้างต้นแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่รุนแรงจากการที่สหรัฐฯ ภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ มีแนวโน้มขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้างอีกครั้งหลังจากทำ Trade War ครั้งแรกเมื่อปี 2561 และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตามหากนางกมลา แฮร์ริส ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สถานการณ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอาจมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปในลักษณะที่ไม่ตึงเครียดมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับหากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง และมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการค้าโลกน้อยกว่า เนื่องจากนางกมลา แฮร์ริสมีนโยบายการสร้างสมดุลระหว่างการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์แบบระมัดระวังกับการแสวงหาความร่วมมือแบบคัดสรร (Selective Cooperation) กับจีน

ในกรณีที่เกิด Trade War รอบใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบมากกว่า จะส่งผลให้อาเซียนจะต้องอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมีแนวโน้มเกิดความไม่แน่นอนในตลาดโลกและทำให้เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ เติบโตลดลง โดยเฉพาะประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตระดับโลกอย่างอาเซียน ซึ่งอาจส่งผลให้การส่งออกสินค้าของอาเซียนออกสู่ตลาดโลกลดลง อีกทั้งอาจทำให้บริษัทต่างชาติชะลอหรือยกเลิกแผนการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน

มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ในกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งยังมีแนวโน้มส่งผลกระทบให้การส่งออกสินค้าของอาเซียนไปยังจีนลดลง จากแนวโน้มการบริโภคสินค้าในจีนที่อาจหดตัวจากผลกระทบของ Trade War รอบใหม่ อีกทั้งอุตสาหกรรมที่จีนมีบทบาทสำคัญในกระบวนการผลิตและอุตสาหกรรมที่อาเซียนพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากจีนค่อนข้างมาก เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักร ยังอาจได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม การเกิด Trade War รอบใหม่จะเป็นโอกาสด้านการค้าและการลงทุนของอาเซียนเช่นกัน โดยอาเซียนจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ  โดยเฉพาะในสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากอาเซียนจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐฯ แทนจีน

โอกาสที่สำคัญอีกประการคืออาเซียนจะดึงดูดการลงทุนจากบริษัทต่างชาติเข้ามาในภูมิภาคได้มากขึ้น โดย Trade War รอบใหม่จะทำให้บริษัทต่างชาติจากสหรัฐฯ และจีน มองหาโอกาสในการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนต่ำและมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจาก Trade War น้อยกว่า อาเซียนจึงจะกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับการย้ายฐานการผลิต เนื่องจากมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่า

ทั้งนี้ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไร ท้ายที่สุดแล้วอาเซียนต้องปรับตัวเพื่อแข่งขันในตลาดโลกด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะในยุคที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงมีอยู่ ดังนั้นการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกับทั้งสองประเทศจะเป็นสิ่งสำคัญต่ออาเซียน

ขณะเดียวกันอาเซียนควรใช้โอกาสในการเข้าร่วมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ เช่น Indo-Pacific Economic Framework (IPEF) เพื่อดึงดูดการลงทุนจากสหรัฐฯ และพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและเทคโนโลยีสีเขียว ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความร่วมมือภายในกลุ่มอาเซียน เช่น การลดอุปสรรคทางการค้า ซึ่งจะช่วยให้ภูมิภาคนี้มีความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้เขียน
วรัญญา ยศสาย
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12766 วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน 2567
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “World Wide View”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top