บทความวิชาการ
view 344 facebook twitter mail

‘FDI ปี 2024’ อาเซียนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง

เกี่ยวกับเอกสาร

รายงานการลงทุนอาเซียน ปี 2024 (ASEAN Investment Report 2024) จัดทำโดยที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UN Trade and Development) ระบุว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อาเซียนปี 2023 มีมูลค่า 230 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ซึ่งมีมูลค่า 229 พันล้านดอลลลาร์สหรัฐ  อาเซียนยังคงรักษาตำแหน่งเป็นผู้รับการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยคิดเป็น 17% ของ FDI ทั่วโลก และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงสามปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามการลงทุนโดยตรงอาเซียน ปี 2023 มีการกระจายตัวในหลายสาขาอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งประกอบด้วย ภาคการเงิน  มีมูลค่าการลงทุน 91.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 53% ของการลงทุนทั้งหมด เนื่องจากการขยายตัวของกิจกรรมทางการเงิน เช่น ธนาคาร การประกันภัย และกองทุนการลงทุนที่ดำเนินการโดยบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่    

ภาคการผลิตยังคงมีบทบาทสำคัญแม้จะลดลงบ้าง โดยปี 2023 มีมูลค่าการลงทุน 50.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 22% ของการลงทุนทั้งหมด   ภาคการวิจัยและพัฒนาเติบโตอย่างโดดเด่น โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 0.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2022 เป็น 20.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2023  โดยกระจุกตัวอยู่ในสิงคโปร์   ภาคการค้าส่งและค้าปลีกมีการลงทุน มูลค่า 25.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  ลดลงเล็กน้อยจากปี 2022  ส่วนการลงทุนด้านโลจิสติกส์มีมูลค่า 14.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงเล็กน้อยจากปี 2022

             สิงคโปร์เป็นประเทศที่ได้รับ FDI สูงสุดในอาเซียน โดยการลงทุนส่วนใหญ่กระจุกตัวในภาคการเงิน การวิจัยและพัฒนา และบริการดิจิทัล เนื่องจากสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางสำคัญสำหรับการตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคของบริษัทข้ามชาติหลายแห่ง และมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลก 

การลงทุนในอินโดนีเซียมุ่งเน้นภาคการผลิตและการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการพัฒนาแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์และลม    มาเลเซียยังคงเป็นศูนย์กลางการผลิตในอาเซียน โดยมีการลงทุนในภาคการผลิตอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายตัวด้านการวิจัยและพัฒนาในภาควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เวียดนามมีการลงทุนที่แข็งแกร่งในภาคการผลิตและการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล  การลงทุนในไทยเน้นไปที่ภาคการผลิตยานยนต์ โดยเฉพาะในระบบยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล  ฟิลิปปินส์มีการเติบโตของการลงทุนในภาคบริการดิจิทัลและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

              รายงานนี้ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและความดึงดูดใจของการลงทุนในภูมิภาค  ประการที่ 1 การส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียวและยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รัฐบาลในประเทศสมาชิกอาเซียนควรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนและยานยนต์ไฟฟ้า เช่น การสร้างระบบชาร์จไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะ และการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด 

ประการที่ 2 การส่งเสริมการลงทุนภายในภูมิภาค (Intra-ASEAN Investment) ควรเพิ่มการเชื่อมโยงการลงทุนภายในภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและลดการพึ่งพาการลงทุนจากนอกภูมิภาค  ประการที่ 3 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประเทศสมาชิกอาเซียนควรลงทุนเพิ่มเติมในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เช่น เครือข่าย 5G และศูนย์ข้อมูล เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ประการที่ 4 การพัฒนาแรงงานและทักษะ โดยพัฒนาทักษะแรงงานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนการลงทุนในกิจกรรมที่ใช้ความรู้สูง ประเทศสมาชิกควรเพิ่มความร่วมมือในการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรในสาขาที่จำเป็น รายงานนี้เน้นย้ำการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างนโยบาย FDI และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ส่งเสริมความยั่งยืนและมีผลกระทบต่อสังคม เช่น การส่งเสริมบทบาทสตรีในภาคอุตสาหกรรม และการสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ การสนับสนุนการลงทุนในภาคบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ประเทศสมาชิกควรดึงดูดการลงทุนในภาคบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น การวิจัยและพัฒนา การบริการทางวิทยาศาสตร์และเทคนิค เพื่อยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของภูมิภาค

ผู้เขียน
วิมล ปั้นคง
รองผู้อำนวยการ (วิชาการ)
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12761 วันพุธที่ 30 ตุลาคม 2567
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 344 facebook twitter mail
Top