บทความวิชาการ

สถานะ ‘NME’ บนทางแพร่งการค้าและการลงทุนเวียดนาม

เกี่ยวกับเอกสาร

หลังกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ประกาศคงสถานะให้เวียดนามเป็นระบบ “เศรษฐกิจที่ไม่ใช่กลไกตลาด” (Non-Market Economy) หรือ NME เมื่อต้นเดือน ส.ค. 2567 เพื่อให้สหรัฐฯ สามารถสืบสวนในประเด็นมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) ได้สร้างความประหลาดใจให้กับนานาประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาเซียน

เนื่องจากการให้สถานะ NME ดังกล่าวดูจะสวนกระแสกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างสหรัฐฯ กับเวียดนามซึ่งมีทิศทางการกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งนี้ เวียดนามมีความพยายามในการเรียกร้องให้สหรัฐฯ พิจารณาถอดถอนสถานะ NME มาอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่จับตาต่อสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศในภูมิภาค

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ มีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน โดยการกำหนดสถานะ NME นี้อยู่ภายใต้กฎหมายการค้า โดยจะพิจารณาว่าสถานการณ์การค้ากับประเทศใดมีต้นทุนหรือโครงสร้างราคามีไม่เป็นไปตามกลไกตลาด ส่งผลให้ราคาในการค้าสินค้าไม่ได้สะท้อนมูลค่าที่เป็นธรรม โดยจะพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การแปลงสกุลเงินภายในประเทศ การต่อรองค่าจ้าง การลงทุนจากต่างชาติ และการควบคุมทรัพยากรและการผลิตโดยรัฐ ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือประเทศที่มีสถานะ NME อาจถูกเรียกเก็บภาษีที่สูงขึ้น เป็นต้น ปัจจุบันสหรัฐฯ กำหนดสถานะ NME จำนวน 12 ประเทศ ได้แก่  อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน เบลารุส จีน จอร์เจีย คีร์กีซ มอลโดวา รัสเซีย ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน และเวียดนาม

เวียดนามมีความพยายามในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับระเบียบระหว่างประเทศ ทั้งภายใต้กลไกขององค์การการค้าโลก (WTO) ด้วยนโยบายเปิดเสรีทางการค้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2565 องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ได้จัดทำรายงานประเมินการกำกับดูแลกิจการของรัฐวิสาหกิจในเวียดนาม โดยระบุว่าจำนวนรัฐวิสาหกิจในเวียดนามลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังคงมีสัดส่วนประมาณ 30% ของ GDP ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่สหรัฐฯ ยังคงสถานะ NME

การคงสถานะ NME ให้กับเวียดนามดูจะสวนทางกับพัฒนาการด้านความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ-เวียดนามในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาซึ่งเวียดนามเป็นศูนย์กลางการผลิตที่มีความสำคัญและเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ โดยเวียดนามส่งออกสินค้าหลักไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า และรองเท้า

 จากสถิติธนาคารโลกระบุว่าปี 2565 เวียดนามส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มูลค่ามากเป็นอันดับ 1  จากการส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม หรือ 29.51% โดยมีอัตราการส่งออกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 ด้านการลงทุนจากต่างประเทศ กระทรวงการวางแผนและการลงทุนเวียดนามรายงานว่า ในปี 2566 สหรัฐฯ เป็นประเทศผู้ลงทุนโดยตรง (FDI) ในเวียดนามกว่า 1,239 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 11,433 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นประเทศผู้ลงทุนในเวียดนามที่มีมูลค่ามากเป็นอันดับที่ 11

ปี 2566 ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศได้พัฒนาขึ้นอีกระดับ โดยสหรัฐฯ-เวียดนามประกาศความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership) กระชับสัมพันธ์ทางการเมืองและการทูต รวมถึงความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุน (ระหว่างการเจรจาดังกล่าวเวียดนามได้เรียกร้องให้สหรัฐฯ ทบทวนการถอนสถานะ NME แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ)

 นอกจากนี้ ยังครอบคลุมถึงด้านการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การศึกษา สิทธิมนุษยชน กองทัพ และการยกระดับความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับโลก พร้อมกับการที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนเวียดนามในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ยิ่งไปกว่านั้น เวียดนามยังเป็นประเทศหุ้นส่วนของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ซึ่งริเริ่มโดยสหรัฐฯ มุ่งเน้นด้านการบูรณาการความร่วมมือด้านการค้า การพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจที่สะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการสร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

ยุคที่นานาประเทศต่างกล่าวขานว่าเวียดนามกำลังก้าวขึ้นเป็นเสือเศรษฐกิจในฐานะฐานการผลิตและการลงทุนอันดับต้นของอาเซียน เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เวียดนามยังต้องเผชิญกับทางแพร่งสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ พร้อมกับต้องเร่งการปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่สหรัฐฯ กำหนด  จึงเป็นโจทย์สำคัญต่อเวียดนามในการรักษาสมดุลระหว่างการบริหารเศรษฐกิจภายในประเทศกับการเปิดเสรีทางการค้า เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในการรักษาพันธมิตรจุดยุทธศาสตร์สำคัญท่ามกลางสงครามการค้าที่ยังระอุอยู่ในภูมิภาคอาเซียน

ผู้เขียน
กอปร์ธรรม นีละไพจิตร
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12756 วันพุธที่ 23 ตุลาคม 2567
หน้า 12 (ล่าง) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top