บทความวิชาการ
view 491 facebook twitter mail

การจัดการชนิด ‘พันธุ์ต่างถิ่น’ ที่รุกรานในอาเซียน

เกี่ยวกับเอกสาร

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำในหลายพื้นที่ของไทย ทำให้สังคมหันกลับมาให้ความสนใจ และเกิดการตั้งคำถามถึงการจัดการ การควบคุม และการป้องกันชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีการนำเข้ามาสู่ไทย โดยเฉพาะในกลุ่มชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (Invasive Alien Species: IAS) เนื่องจากสามารถแพร่กระจายและปรับตัวแข่งขันแทนที่พันธุ์พื้นเมืองได้ดีและรวดเร็ว จนเป็นชนิดพันธุ์เด่นในสิ่งแวดล้อมใหม่ ส่งผลกระทบทั้งเกิดการแย่งชิงทรัพยากรจากพันธุ์พื้นเมือง เกิดการสูญเสียของปริมาณพืชหรือสัตว์พื้นเมืองที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และอาจเป็นพาหะของโรคระบาดได้ นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยชนิดพันธุ์พื้นเมืองอาจถูกแทนที่หรือสูญพันธุ์จาก IAS ที่แพร่กระจายได้

             มิติการอนุรักษ์และจัดการความหลากหลายทางชีวภาพยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับความสำคัญในระดับนานาชาติมาโดยตลอด เห็นได้จากการจัดทำ อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) โดยมุ่งเน้นการป้องกัน จัดการ และควบคุมการแพร่กระจายของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่คุกคามต่อในประเทศต่าง ๆ สถานการณ์ปัจจุบันของ IAS จากรายงานของ Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services (IPBES) ระบุว่า การนำเข้าและการแพร่กระจายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับอดีต และยังไม่มีสัญญาณในการชะลอตัวลง นอกจากนี้ยังสร้างต้นทุนทางเศรษฐกิจทั่วโลกกว่า 423 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 4 เท่าทุก ๆ 10 ปี และเพื่อตอบสนองต่อปัญหานี้กรอบด้านความหลากหลายทางชีวภาพโลกล่าสุด Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework (KMGBF) มีเป้าหมายในประเด็น IAS เพื่อการลดการนำเข้าและการตั้งถิ่นฐานให้ได้อย่างน้อย 50% ภายในปี 2030 โดยมุ่งเน้นไปที่พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น พื้นที่เกาะ

ในภูมิภาคอาเซียนปัญหา IAS ถือปัญหาสำคัญที่กระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจาก เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก ดังนั้นประเทศสมาชิกอาเซียนจึงได้เข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญา CBD โดยแต่ละประเทศได้ดำเนินการเพื่อลดผลกระทบของ IAS มาตลอด โดยการกำหนดการแผนยุทธศาสตร์และปฏิบัติการระดับชาติ เช่น อินโดนีเซียมี Indonesia’s National Biodiversity Targets (2015-2020) ซึ่งเน้นการป้องกันการนำเข้า IAS ควบคุมประชากรชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ส่วนในไทยมี Thailand Biodiversity Targets (2015-2021) เน้นการจัดการชนิดพันธุ์ที่รุกรานผ่านมาตรการที่จัดตั้งขึ้น รวมถึงการระบุชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในทุกระบบนิเวศและดำเนินการควบคุม

 ระดับภูมิภาค สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มีการเผยแพร่แผนปฏิบัติการอาเซียนในการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (2023–2030) ซึ่งได้รับรองโดยการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 17 โดยมีเป้าหมายหลัก ได้แก่ (1) การเสริมสร้างกรอบกฎหมายและการประสานงาน (2) การเพิ่มความตระหนักรู้และการศึกษา (3) การเพิ่มศักยภาพและทรัพยากร (4) การประเมินความเสี่ยงและการจัดลำดับความสำคัญ (5) การควบคุมชายแดนและการพัฒนามาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพระหว่างเกาะ (6) การปรับปรุงมาตรการป้องกันและควบคุม (7) การติดตาม ประเมินผล และรายงาน และ (8) การเงินที่ยั่งยืน

            การจัดการปัญหาสายพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (IAS) ในภูมิภาคอาเซียนยังคงเผชิญข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะในด้านต้นทุนที่ค่อนข้างสูง แม้ว่าอาเซียนจะมีการเสนอแหล่งเงินทุนสำหรับการจัดการ IAS แต่การจัดหาแหล่งทุนเหล่านี้ยังคงเป็นความท้าทาย เช่น งบประมาณจากภาครัฐที่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากนโยบายระดับสูงและความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ทั้งนี้ แหล่งทุนจากภาครัฐยังต้องแข่งขันกับโครงการอื่น ๆ ที่ต้องการงบประมาณเช่นกัน

สำหรับการสนับสนุนจากภาคเอกชน แม้ว่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่จำเป็นต้องมีแรงจูงใจที่เหมาะสม เช่น การลดหย่อนภาษี หรือ การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้จำเป็นต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายที่ชัดเจน ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการจัดการ IAS อย่างยั่งยืน อาเซียนควรเสริมสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน พร้อมทั้งพัฒนากลไกทางการเงินและมาตรการทางกฎหมายที่ครอบคลุมและยืดหยุ่น เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้เขียน
ณัฐจารีย์ เพ็ชรร่วง
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12746 วันพุธที่ 9 ตุลาคม 2567
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top