บทความวิชาการ
view 1357 facebook twitter mail

พัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน

เกี่ยวกับเอกสาร

ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านตำแหน่งที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยสามารถเชื่อมโยงประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ได้หลายประเทศ ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกกลุ่มความร่วมมือ BIMSTEC และ ACMECS รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงกับประเทศที่มีศักยภาพสูงด้านการบริโภคในประเทศ เนื่องจากมีจำนวนประชากรสูง ได้แก่ อินเดียและจีน จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยในการพัฒนาและส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยและเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านภายใต้แนวคิดการพัฒนาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาต่อทุกประเทศรวมทั้งประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เนื่องจากเกือบทุกประเทศได้ประกาศปิดพรมแดนเป็นการชั่วคราว รวมทั้งได้ประกาศควบคุมการเคลื่อนย้ายคนและสินค้าอย่างเข้มงวด ส่งผลกระทบต่อการผลิตและบริโภคในภูมิภาคอย่างสูง ทั้งมิติการท่องเที่ยว การค้าชายแดนและการค้าข้ามแดน ส่งผลต่อการผลิตภายใต้เครือข่ายห่วงโซ่การผลิตภูมิภาค รวมทั้งการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ  และยังส่งผลกระทบต่อวิถีการบริโภคของประชาชนในภูมิภาคที่ได้ปรับเปลี่ยนสู่การใช้จ่าย โดยใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) เติบโตอย่างรวดเร็ว รวมทั้งส่งผลให้ธุรกิจบริการการขนส่งเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน

การวิเคราะห์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป รวมทั้งญี่ปุ่นกำลังก้าวสู่ภาวะตกต่ำ ประเทศเหล่านี้เป็นตลาดส่งออกสำคัญของประเทศไทย นอกจากนั้นประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะนำมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีมาบังคับใช้มากขึ้น ทั้งมาตรการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้การส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้มีต้นทุนสูงขึ้น กลุ่มผู้ประกอบการที่ผลิตและส่งออกสินค้าไปยังประเทศเหล่านี้ต้องเร่งปรับตัวซึ่งต้องมีองค์ความรู้ เงินทุน และเทคโนโลยีสมัยใหม่ 

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของทั้งภูมิรัฐศาสตร์ และภูมิเศรษฐศาสตร์  ประเทศไทยควรให้ความสำคัญการพัฒนากรอบความร่วมมือในภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วย กรอบความร่วมมือ BIMSTEC และ ACMECS เนื่องจากประเทศสมาชิกประกอบด้วยประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพในการเติบโตทั้งจากฐานทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์และประชากรวัยแรงงงานที่มีศักยภาพด้านการผลิต รวมทั้งเป็นฐานการบริโภคที่สำคัญ

ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพด้านธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากร การพัฒนาระบบโลจิสติกส์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโลจิสติกส์ด้านการขนส่งสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป การส่งเสริมการเข้าสู่แหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อการปรับตัวสู่การใช้เทคโนโลยิดิจิทัลในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งเร่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการลงทุน และนำไปสู่การพัฒนาห่วงโซ่การผลิตระดับภูมิภาคที่ยั่งยืน โดยการพัฒนาปรับกฎหมายและพัฒนาโครงสร้างเชิงสถาบันเชิงพื้นที่ชายแดนให้มีความสะดวกและคล่องตัว และมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้ 

นอกจากนั้นในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและด้านการเกษตร รัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการพัฒนาแปรรูปสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้  โดยให้ความสำคัญกับตลาดกลุ่มประเทศ BIMSTEC ซึ่งมีประชากรจำนวนมากและมีความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมเป็นพื้นฐานที่สำคัญอยู่แล้ว

ผู้เขียน
วิมล ปั้นคง
รองผู้อำนวยการ (วิชาการ)
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12506 วันพุธที่ 8 พฤศจิกายน 2566
หน้า 8 (ล่างซ้าย) คอลัมน์ “Insight ASEAN”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง