บทความวิชาการ

ปัญหาโลกรวนกับการพลัดถิ่นในอาเซียน

เกี่ยวกับเอกสาร

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม เมียนมา สปป.ลาว และไทย ซึ่งอยู่ในเส้นทางของพายุ ภัยพิบัติทางธรรมชาติเหล่านี้สร้างความเสียหายอย่างมากต่อเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของประชาชนทั่วทั้งภูมิภาค นอกจากนี้หลายพื้นที่ในโลกก็กำลังเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีความรุนแรงมากขึ้นและมีความถี่สูงขึ้นอันเป็นผลจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

ความท้าทายอย่างหนึ่งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มักถูกละเลยคือ การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้พลัดถิ่นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Displacement) ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำคัญในระดับโลก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก หลายประเทศในภูมิภาค เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ เมียนมา เวียดนาม และกัมพูชา ต่างต้องเผชิญกับผลกระทบจากปรากฏการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate-related loss events) อันดับต้น ๆ ของโลก

ข้อมูลจาก Internal Displacement Monitoring Centre ระบุว่าในระหว่างปี 2010-2021 มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศกว่า 225 ล้านคนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งประมาณ 30% ของคนเหล่านี้เป็นประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทย ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำโขง หลายจังหวัดได้รับผลกระทบอย่างหนักจากน้ำท่วมที่เกิดซ้ำซาก รวมถึงการกัดเซาะชายฝั่งซึ่งทำให้พื้นที่อาศัยและการเกษตรหายไป ปรากฏการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นในอัตราเร่งที่สูงขึ้น และส่งผลให้ผู้คนจำต้องย้ายถิ่นฐานออกไป

เวียดนามเองก็เผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวหลักของประเทศ การเพิ่มขึ้นของน้ำทะเลและปัญหาน้ำเค็มทำให้เกษตรกรต้องละทิ้งพื้นที่ทำการเกษตร ประชากรหลายคนต้องย้ายถิ่นไปยังเมืองเพื่อหางานใหม่ ซึ่งการเคลื่อนย้ายนี้ส่งผลกระทบต่อทั้งสังคมและเศรษฐกิจในวงกว้าง

ในขณะที่ฟิลิปปินส์เองก็ถือเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติอันดับต้น ๆ ของโลก โดยเฉพาะพายุไต้ฝุ่นที่พัดผ่านประเทศทุกปี พายุรุนแรงเหล่านี้ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และพื้นที่เกษตรกรรม ประชากรที่อาศัยในพื้นที่ชายฝั่งและหมู่เกาะต่าง ๆ ต้องเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวและการพลัดถิ่นจากบ้านเกิด

อย่างไรก็ตามนโยบายการจัดการพลัดถิ่นอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นยังมีความคืบหน้าค่อนข้างน้อย แม้ว่าหลายประเทศจะพยายามพัฒนานโยบายเพื่อลดผลกระทบของภัยพิบัติ แต่ปัจจุบันยังขาดกรอบนโยบายที่ครอบคลุมและชัดเจนในการจัดการปัญหานี้ในระยะยาว

การพัฒนาแนวนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการรับมือการพลัดถิ่นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นจำเป็นต้องสร้างกรอบความร่วมมือขึ้นในระดับภูมิภาคเพราะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพลัดถิ่นนั้นเป็นปัญหาในลักษณะข้ามพรมแดนและต้องการการทำงานที่สอดประสานกันในระดับระหว่างประเทศจึงจะสามารถรับมือกับความท้าทายดังกล่าวได้ในอนาคต

ผู้เขียน
ภูชิสส์ ภูมิผักแว่น
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12736 วันพุธที่ 25 กันยายน 2567
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top