บทความวิชาการ
view 378 facebook twitter mail

อาเซียนกับการพัฒนา ‘พลังงานไฮโดรเจน’

เกี่ยวกับเอกสาร

อาเซียนกำลังก้าวขึ้นเป็นภูมิภาคที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้นของโลก โดย PwC คาดการณ์ในรายงาน “The World in 2050” ว่าจะขึ้นเป็นอันดับ 4 ของโลกภายในปี 2050 การเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนดังกล่าวย่อมส่งผลให้ความต้องการพลังงานพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด พลังงานไฮโดรเจนนับเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่น่าจับตามอง เนื่องจากเมื่อเผาไหม้แล้วจะได้เพียงน้ำ ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งวัตถุดิบหลักคือ “น้ำ” ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีจำนวนมาก

รายงาน Hydrogen Economy Outlook ปี 2023 ยังคาดการณ์ว่าต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจะลดลงถึง 85% ภายในปี 2050 ทำให้สามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ในหลายภาคส่วน เช่น การขนส่งและอุตสาหกรรม พลังงานไฮโดรเจนจึงเป็นหนึ่งในพลังงานที่มีศักยภาพสูงในการตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นของอาเซียนได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

อาเซียนกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของไฮโดรเจนอย่างเต็มตัว โดยแต่ละประเทศต่างเร่งพัฒนานโยบายและโครงการที่เกี่ยวข้องเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน แม้จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและยังมีสัดส่วนการใช้ที่น้อยเมื่อเทียบกับพลังงานสะอาดชนิดอื่น ๆ แต่ประเทศในอาเซียนก็มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานสะอาดที่สำคัญในอนาคต

สิงคโปร์ ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการค้าและนวัตกรรมไฮโดรเจนระดับโลก มีการทดสอบการนำเข้าไฮโดรเจน รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและจัดเก็บ ส่วนเวียดนาม มีแผนยุทธศาสตร์ไฮโดรเจนระดับชาติ ตั้งเป้าผลิตไฮโดรเจนจำนวนมากเพื่อใช้ในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า ปุ๋ย และเหล็ก

สำหรับมาเลเซีย มุ่งเน้นการพัฒนาไฮโดรเจนสีฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ และมีแผนผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากพลังงานหมุนเวียนในอนาคต ด้านอินโดนีเซีย กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากพลังงานน้ำและแสงอาทิตย์ พร้อมกับวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไฮโดรเจน ส่วนฟิลิปปินส์และบรูไน ก็เริ่มให้ความสนใจและศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาไฮโดรเจนเช่นกัน

สำหรับไทย จัดทำแผนพัฒนาไฮโดรเจน และมีโครงการนำร่อง Hydrogen Valley เพื่อศึกษาการผลิตและใช้ไฮโดรเจนในภาคอุตสาหกรรมและขนส่ง ทั้งนี้ไทยมีศักยภาพด้านพลังงานไฮโดรเจน เนื่องจากไทยมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสูง ทั้งจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวมวล ซึ่งสามารถนำมาผลิตไฮโดรเจนสีเขียวได้ในปริมาณมาก การที่ไทยมีทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้อต่อการผลิตพลังงานหมุนเวียน ทำให้มีต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวที่ต่ำลงได้ในอนาคต

ทั้งนี้การพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนในอาเซียนจะประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในหลายระดับ ทั้งในระดับภูมิภาค ระหว่างประเทศ และระหว่างภาครัฐและเอกชน สำหรับความร่วมมือระดับภูมิภาค  ทั้งนี้จากนโยบายพลังงานสะอาดของอาเซียนได้ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาดและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ซึ่งพลังงานไฮโดรเจนถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายพลังงานสะอาดอาเซียน  อาเซียนได้กำหนดเป้าหมายให้เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคเป็น 23% ภายในปี 2025 และสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับพลังงานไฮโดรเจน  ทั้งนี้อาเซียนควรมีการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีระหว่างกัน มีการพัฒนามาตรฐานร่วมกัน ตลอดจนมีการส่งเสริมการลงทุนในโครงการไฮโดรเจนร่วมกัน

ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ อาเซียนควรกระชับความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ที่มีศักยภาพด้านไฮโดรเจน เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคโนโลยี รวมถึงดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ด้านความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ภาครัฐควรสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมไฮโดรเจน ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมการลงทุน การลดภาษี และการให้เงินอุดหนุน

แม้เส้นทางสู่สังคมไฮโดรเจนของอาเซียนอาจจะยังอีกยาวไกล แต่ความคืบหน้าของอาเซียนด้านการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ด้วยการลงทุนและพัฒนานโยบายที่เหมาะสม พลังงานไฮโดรเจนจะไม่เพียงแต่เป็นทางเลือกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคอาเซียนให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนในอนาคต

ผู้เขียน
วรัญญา ยศสาย
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12731 วันพุธที่ 18 กันยายน 2567
หน้า 8 (ล่างซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 378 facebook twitter mail
Top