บทความวิชาการ
view 174 facebook twitter mail

OECD นัยต่อไทยและอาเซียน

เกี่ยวกับเอกสาร

หลังคณะมนตรีองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development) หรือ OECD มีมติเอกฉันท์เริ่มกระบวนการหารือเพื่อรับประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก (Accession Discussion) เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 หลังไทยยื่นหนังสือแสดงความจำนงขอเข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 นับเป็นย่างก้าวสำคัญของการต่างประเทศไทยในการบูรณาการเศรษฐกิจเข้ากับประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก

OECD มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อประเทศสมาชิกทั่วโลกให้สามารถปรับตัวและเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่าง G7 และ G20 ปัจจุบัน OECD มีสมาชิกทั้งสิ้น 38 ประเทศทั่วโลกซึ่งล้วนเป็นประเทศเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั้งสิ้น เช่น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี แคนาดา ออสเตรเลีย สวิสเซอร์แลนด์ สวีเดน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมีประเทศหุ้นส่วนสำคัญ 5 ประเทศ ได้แก่ บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย และแอฟริกาใต้

สมาชิก OECD สำคัญไฉน ?

OECD เสมือนกลุ่มนักเรียนระดับหัวกะทิที่รวมตัวกันโดยมีพี่เลี้ยง หรือ ติวเตอร์ ที่ช่วยกำกับดูแลทิศทางการเรียนของกลุ่ม ออกแบบหลักสูตร กฎกติกาในห้องเรียน จัดตารางเรียน และเป็นครูแนะแนวให้รายบุคคล เพื่อให้สมาชิกในกลุ่มมีทักษะการเรียนที่ได้มาตรฐานในระดับที่สามารถแข่งขันได้

บทบาทหลักของ OECD คือการเป็นที่ปรึกษาและผู้กำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศให้แก่สมาชิกด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และกลไกการกำกับดูแลที่เหมาะสมของภาครัฐ ซึ่งประเทศสมาชิกต้องยอมรับและปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ และวิถีปฏิบัติ (Code of Conduct) ของ OECD

มาตรฐานที่ OECD กำหนดทั้งที่เป็นข้อผูกพันตามกฎหมายและความตกลงระหว่างประเทศ เช่น การให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการติดสินบน หรือ OECD Anti-Bribery Convention ปี 2540 รวมถึงปฏิญญาและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ไม่มีผลผูกมัดทางกฎหมาย เช่น ข้อแนะนำเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ ฯลฯ ครอบคลุมประเด็นกว้างขวางถึงการคุ้มครองผู้บริโภค การปกป้องสิ่งแวดล้อม การปล่อยมลพิษ และการจัดการองค์กรธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ ฯลฯ โดยปัจจุบัน OECD มีกฎระเบียบและปฏิญญาต่าง ๆ ให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามมากกว่า 500 ฉบับ  

หากประเทศสมาชิกปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ กฎระเบียบภายในประเทศ รวมถึงทิศทางการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศให้ได้มาตรฐานของ OECD แล้ว จะช่วยยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันในเวทีเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ เข้าถึงการอำนวยความสะดวกในการค้าการลงทุน และการแลกเปลี่ยนข้ามพรมแดน นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในกลุ่ม OECD ได้

ก่อนเข้าเป็นสมาชิกต้องเผชิญอะไรบ้าง ?

การเข้าเป็นสมาชิก OECD มิใช่ว่าใครอยากเข้าก็เข้าได้ทันที แต่ต้องยื่นคำขอเข้าเป็นสมาชิก เมื่อคณะมนตรี OECD มีมติเริ่มกระบวนการพิจารณารับสมาชิกใหม่แล้ว จะมีการประเมินเชิงลึกทางเทคนิค หลังจากนั้นเลขาธิการ OECD จะทำ Roadmaps ข้อเสนอแนะให้ประเทศผู้สมัครนำไปปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD โดยประเทศผู้สมัครต้องทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการ OECD อย่างใกล้ชิดภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้คณะมนตรี OECD พิจารณารับเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ ปัจจุบันมี 8 ประเทศที่อยู่ในกระบวนการคัดเลือก ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล บัลกาเรีย โครเอเทีย เปรู โรมาเนีย อินโดนีเซีย และไทย

โอกาสของไทยและอาเซียน

OECD มีความโดดเด่นกว่ากลุ่มความร่วมมืออื่น ๆ ตรงที่ OECD มีโครงสร้างความเป็น “สถาบันระหว่างประเทศ” (International Institute) มีแบบแผนและมาตรฐานความร่วมมือที่ชัดเจนซึ่งประเทศสมาชิกต้องปรับปรุงกฎระเบียบภายในให้สอดคล้องกับปทัสถานและมาตรฐานของสถาบันฯ แตกต่างไปจากอาเซียนที่มีการรวมตัวกันอย่างหลวม ๆ ไม่ได้มีพันธกรณีผูกมัดทางกฎหมายระหว่างประเทศ หรือ BRICS ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มเครือข่ายหุ้นส่วนและเปิดตลาดกับประเทศเศรษฐกิจใหม่ 

หากมองว่าไทยเป็นรัฐอธิปไตย เหตุไฉนไหนต้อง “รื้อบ้าน เปลี่ยนหน้าต่างใหม่” เพื่อแลกกับการยอมรับของ “หมู่บ้านใหญ่” นั้น ตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) มองว่ารัฐอธิปไตยรัฐต่าง ๆ จะยอมสละอำนาจภายในบางประการในการปฏิบัติตามปทัสถานของสถาบันระหว่างประเทศ เพื่อแลกกับผลประโยชน์ระยะยาวที่คาดว่าจะได้รับจากความร่วมมือ ดังนั้นการขอเข้าร่วม OECD จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ไทยต้องปรับปรุงโครงสร้างและกฎระเบียบทางเศรษฐกิจให้ได้มาตรฐาน นับเป็นย่างก้าวสำคัญของไทยและอาเซียนในการยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจให้ทัดเทียมมาตรฐานสากลและมีสมรรถภาพในการแข่งขันระดับโลกได้อย่างยั่งยืน

ผู้เขียน
กอปร์ธรรม นีละไพจิตร
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12721 วันพุธที่ 4 กันยายน 2567
หน้า 8 (ล่างซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 174 facebook twitter mail
Top