บทความวิชาการ
view 547 facebook twitter mail

Green Transformation รับมือวิกฤต Climate Change

เกี่ยวกับเอกสาร

เมื่อโลกก้าวเข้าสู่วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประชาคมโลกจึงต้องรับมือกับภัยธรรมชาติและสภาพอากาศที่แปรปรวน สร้างความกดดันและความท้าทายในการบรรเทาและแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ต้องแก้ไขตั้งแต่ระดับโลก ระดับประเทศ ไปจนถึงภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผู้ขับเคลื่อนการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Green Transformation (GX) คือการเปลี่ยนแปลงแบบองค์รวมสู่แนวทางรักษ์สิ่งแวดล้อมและยั่งยืนยิ่งขึ้นของเศรษฐกิจและสังคม เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมและภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

การเปลี่ยนแปลงสู่แนวทางรักษ์สิ่งแวดล้อมและยั่งยืนยิ่งขึ้นสามารถเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศผ่านนโยบายและยุทธศาสตร์ที่สนับสนุนความยั่งยืนของเศรษฐกิจและสังคมเพื่อประโยชน์ของการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงขององค์กร หน่วยงาน และธุรกิจ

หากมองในด้านของการค้าระหว่างประเทศที่ปัจจุบันมีการใช้มาตรการทางการค้าเพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น CBAM EUDR ยิ่งเป็นแรงกดดันให้ประเทศผู้ส่งออกต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างครอบคลุมรอบด้านให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงธุรกิจเพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก

อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรและมีความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เอื้อต้องการเกษตร ประมง ป่าไม้ อย่างไรก็ตาม เมื่ออาเซียนมุ่งพัฒนาด้านการค้า อุตสาหกรรม และการแข่งขันในตลาดโลก ย่อมส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมตามมาด้วย

โดยในปี 2562 มีการคาดการณ์ว่า หากอาเซียนไม่จัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจทำให้ GDP ของภูมิภาคลดลง 11% ภายในปี 2643 และจะมีผู้พลัดถิ่นจากพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในอินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ไทย และเวียดนาม ราว 87 ล้านคน

อาเซียนจึงต้องเผชิญกับความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงสู่แนวทางรักษ์สิ่งแวดล้อมและยั่งยืนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่การเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยเทคโนโลยีและเงินทุน เนื่องจากระดับการพัฒนาของประเทศสมาชิกมีความแตกต่างกันมาก

ในอีกด้าน จากการที่ประเทศสมาชิกอาเซียนมีความสามารถในการผลิตพลังงานทดแทนซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลมาสู่พลังงานสะอาด แต่การเปลี่ยนผ่านพลังงานต้องการเงินทุนมหาศาลเพื่อบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านพลังงานในปี 2573 และ Net Zero ในปี 2593 จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสู่แนวทางรักษ์สิ่งแวดล้อมและยั่งยืนยิ่งขึ้น

การลงทุนในภาคส่วนพลังงานทดแทนและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องจึงมีความจำเป็นอย่างมากต่อการบรรลุการเปลี่ยนแปลงสู่แนวทางรักษ์สิ่งแวดล้อมและยั่งยืนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เทคโนโลยีสีเขียวและผู้ประกอบการสีเขียวก็ต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วนโดยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีสีเขียวและการสร้างผู้ประกอบการสีเขียวให้ได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ติดตามข้อมูลความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการค้าในยุควิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศและในประเทศในงานสัมมนา Trade Amidst the Climate Crisis Era วันที่ 28 ส.ค. 2567 รายละเอียด www.itd.or.th

ผู้เขียน
ภัชชา ธำรงอาจริยกุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12716 วันพุธที่ 28 สิงหาคม 2567
หน้า 8 (ล่างซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top