บทความวิชาการ
view 332 facebook twitter mail

‘อินโดนีเซีย’ เร่งดึงดูดนักลงทุนและแรงงานทักษะสูง

เกี่ยวกับเอกสาร

ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2567  ประธานาธิบดีโจโก วีโดโด แห่งอินโดนีเซียได้เปิดตัวโครงการ Golden Visa อย่างเป็นทางการ ภายหลังจากที่เปิดทดลองใช้มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2566 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงดึงดูดแรงงานทักษะสูงให้เข้ามาทำงานยังอินโดนีเซียให้มากยิ่งขึ้น

Golden Visa ได้เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติสามารถยื่นขอพำนักอยู่ในอินโดนีเซียได้ตั้งแต่ระยะ 5-10 ปี ในหลากหลายช่องทาง เช่น บุคคลทั่วไปที่มีการลงทุนภายในประเทศ 2.5 ล้านสหรัฐ สามารถยื่นขอวีซ่าระยะ 5 ปีได้ ในขณะที่ผู้ที่ลงทุนตั้งแต่ 5 ล้านสหรัฐขึ้นไป จะสามารถยื่นขอวีซ่าระยะ 10 ปีได้ ในกรณีนักท่องเที่ยวก็สามารถยื่นขอซื้อวีซ่าได้เช่นกัน แต่ต้องมีเงินฝากกับธนาคารของรัฐตั้งแต่ 350,000 สหรัฐ ขึ้นไปสำหรับยื่นวีซ่า 5 ปี และ 7000,000 สหรัฐ สำหรับยื่นวีซ่า 10 ปี

กรณีเป็นบริษัทก็สามารถยื่นขอวีซ่าดังกล่าวให้กับผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัทได้ โดยต้องมีการลงทุน 25 ล้านสหรัฐขึ้นไป สำหรับวีซ่าระยะ 5 ปี และ 50 ล้านสหรัฐ สำหรับวีซ่าระยะ 10 ปี

การประกาศใช้ Golden Visa นั้น สะท้อนถึงความพยายามของอินโดนีเซียในการทำให้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ (FDI) มากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลอินโดนีเซียมีความต้องการลดบทบาทของการเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบขั้นต้นน้ำและหันมาเพิ่มศักยภาพการผลิตแบบครบวงจรภายในประเทศ เพื่อเพิ่มบทบาทของอินโดนีเซียในห่วงโซ่อุปทานโลกให้มากยิ่งขึ้น

รัฐบาลอินโดนีเซียหวังว่าการประกาศใช้ Golden Visa นั้น นอกจากจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศแล้ว ยังจะช่วยสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่น เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางเทคโนโลยี และยังช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากอีกด้วย

วีซ่าดังกล่าวยังสร้างโอกาสในการดึงดูดแรงงานทักษะสูงเข้ามาในตลาดแรงงานอินโดนีเซียให้มากยิ่งขึ้น เป็นที่น่าสนใจว่าอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีอัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานต่างชาติ (foreign-born participation rate) ในตลาดแรงงานค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าอินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรวัยแรงงานค่อนข้างสูงถึง 190 ล้านคน แต่ก็ยังคงประสบกับภาวะขาดแคลนแรงงานทักษะสูง ซึ่งวีซ่าดังกล่าวอาจสามารถช่วยเข้ามาเติมเต็มปัญหาดังกล่าวนี้ได้

อย่างไรก็ตามแม้ Golden Visa จะถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับอินโดนีเซีย แต่ถ้าหากพิจารณาในระดับภูมิภาคจะพบว่า ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนเองก็หันมาให้ความสำคัญกับการดึงดูดการลงทุนและแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศผ่านการให้วีซ่าในลักษณะดังกล่าวเช่นกัน

กรณีของประเทศไทยก็มีการใช้ Long-Term Resident Visa (LTR Visa) เวียดนามเองก็มีการประกาศใช้ Startup Visa ที่มีเป้าหมายในการดึงดูดการลงทุนสตาร์ทอัพจากต่างประเทศและแรงงานทักษะสูง ในขณะที่มาเลเซียก็มีการใช้ Digital Nomad Visa ที่มุ่นเน้นไปที่การดึงดูดการลงทุนและแรงงานทักษะสูงจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นหลัก

เมื่อประเทศต่าง ๆ เริ่มที่จะประการใช้เครื่องมือในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ดังนั้นความท้าทายประการสำคัญคือจะทำอย่างไรให้โครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงกฎระเบียบ และกลไกต่าง ๆ ภายในประเทศมีความพร้อมมากพอที่จะรองรับการลงทุน

ผู้เขียน
ภูชิสส์ ภูมิผักแว่น
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12701 วันพุธที่ 7 สิงหาคม 2567
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top