บทความวิชาการ
view 246 facebook twitter mail

วิสัยทัศน์ 20 ปี ‘Indonesia Emas 2045’

เกี่ยวกับเอกสาร

อินโดนีเซียรุ่งโรจน์ 2045: ประเทศภาคพื้นสมุทรแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีอธิปไตย ก้าวหน้า และยั่งยืน คือวิสัยทัศน์ของเป้าหมายการพัฒนาในปี 2045 เป็นหมุดหมายสำคัญในวาระครบรอบ 100 ปีการประกาศเอกราชอินโดนีเซียซึ่งรัฐบาลโจโก วิโดโด ประกาศยุทธศาสตร์ทิ้งทวนก่อนสิ้นสุดวาระประธานาธิบดีในปีนี้           ปี 2045 คาดว่าอินโดนีเซียจะมีจำนวนประชากรราว 324 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก รองจากอินเดีย จีน สหรัฐฯ ไนจีเรีย และปากีสถาน รัฐบาลตั้งเป้าให้อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ใช้นวัตกรรมและเปลี่ยนผ่านจากการผลิตวัตถุดิบขั้นพื้นฐานไปสู่การผลิตวัตถุดิบที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศและอุตสาหกรรมชีวภาพ และตั้งเป้าเพิ่มรายได้จากภาคอุตสาหกรรมเป็น 30% ของ GDP เพิ่มสัดส่วนประชากรผู้มีรายได้ปานกลางเป็น 80% ของประเทศ

วิสัยทัศน์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการประกาศแผนพัฒนาชาติระยะยาว (RPJPN) ปี 2025-2045 โดยกระทรวงการวางแผนและการพัฒนาชาติ (BAPPENAS) กำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนี้แบ่งออกเป็น 4 ขั้น ดังนี้

ปี 2025-2029 วางรากฐานการเปลี่ยนผ่านอย่างแข็งแกร่ง เศรษฐกิจขยายตัว 5.9% โดยมาจากสัดส่วนของภาคเกษตรกรรม 11.2 % ภาคอุตสาหกรรม 21.9 % ภาคบริการ 42.1 % ภาคอื่น ๆ 24.8 %

ปี 2030-2034 เร่งรัดการเปลี่ยนผ่าน เศรษฐกิจขยายตัว 7.0 % โดยมาจากสัดส่วนของภาคเกษตรกรรม 10.6 % ภาคอุตสาหกรรม 26.6 % ภาคบริการ 42.6 % ภาคอื่น ๆ 20.2 %

ปี 2035-2039 ขยายสู่ระดับโลก เศรษฐกิจขยายตัว 8.0 % โดยมาจากสัดส่วนของภาคเกษตรกรรม 9.4 % ภาคอุตสาหกรรม 30 % ภาคบริการ 43.6 % ภาคอื่น ๆ 17 %

          ปี 2040-2045 การเป็นรูปร่างของวิสัยทัศน์ Indonesia Emas เศรษฐกิจขยายตัว 7.1 % โดยมาจากสัดส่วนของภาคเกษตรกรรม 7.8 % ภาคอุตสาหกรรม 28 % ภาคบริการ 45.4 % ภาคอื่น ๆ 18.8 %

การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาในปี 2045 จำเป็นต้องขับเคลื่อนควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ และการให้บริการของภาครัฐให้มีการบูรณาการและสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์

การพัฒนาเศรษฐกิจอินโดนีเซียกำลังมีทิศทางสู่การลดอัตราการเติบโตในภาคเกษตรกรรม และผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมและบริการขยายตัวมาทดแทน โดยให้ความสำคัญกับการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาขับเคลื่อนภาคการผลิต มุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจสีน้ำเงิน (การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน) การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล บูรณาการเศรษฐกิจในประเทศเข้ากับเศรษฐกิจโลก และกระจายรายได้ด้วยการพัฒนาเมืองและชนบทให้เป็นศูนย์กลางการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอินโดนีเซียประสบปัญหาค่าครองชีพสูงในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีรายได้น้อย และอัตราการว่างงานสูง สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่าในปี 2023 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียชะลอตัวลงอยู่ที่ 5.05 % ซึ่งลดลงจากปี 2022 โดยภาคการส่งออกหดตัวลงทั้งที่อินโดนีเซียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกในกลุ่มสินค้าถ่านหิน น้ำมันปาล์ม และนิกเกิล ขณะที่การบริโภคภายในประเทศกลับเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา

การจะบรรลุเป้าหมาย Indonesia Emas 2045 โดยลดการพึ่งพิงการส่งออกในภาคเกษตรกรรมและสินแร่ซึ่งเป็นรายได้หลักของอินโดนีเซียมานานนับทศวรรษาสู่การสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมขั้นสูง หมุนเวียน และยั่งยืนนั้น อินโดนีเซียอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับการสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองระดับโลก จึงเป็นโจทย์ท้าทายรัฐบาลอินโดนีเซียในช่วง 20 ปีข้างหน้าในการนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าและยั่งยืนได้ตามวิสัยทัศน์

ผู้เขียน
กอปร์ธรรม นีละไพจิตร
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12686 วันพุธที่ 17 กรกฎาคม 2567
หน้า 8 (ล่างซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 246 facebook twitter mail
Top