บทความวิชาการ
view 488 facebook twitter mail

ภูมิทัศน์อีคอมเมิร์ซเอเชียตะวันออก

เกี่ยวกับเอกสาร

ยุคปัจจุบันอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้กลายเป็นช่องทางสำคัญในการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการ เนื่องจากผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อสินค้า แม้อีคอมเมิร์ซได้ให้โอกาสและความยืดหยุ่นแก่ธุรกิจที่เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวท่ามกลางบริบทของสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป 

แต่สภาพแวดล้อมการแข่งขันของตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้สร้างทั้งโอกาสและอุปสรรคให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ รวมทั้งยังคงมีอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการมีส่วนร่วมในตลาดอีคอมเมิร์ซโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อย

การแก้ไขอุปสรรคเหล่านี้ต้องการแนวทางและข้อมูลที่ครอบคลุมเพื่อให้เข้าใจภาพรวมของอีคอมเมิร์ซและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  UNESCAP ได้จัดทำรายงานภูมิทัศน์ของตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกโดยอาศัยฐานข้อมูล Asia Marketplace Explorer (AME) เพื่อประเมินอีคอมเมิร์ซของประเทศในเอเชียตะวันออกมีข้อมูลที่น่าสนใจหลายประการ

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีจำนวนตลาดออนไลน์ในรูปแบบธุรกิจสู่ผู้บริโภค (B2C) รวมจำนวน 1,159 แห่ง การกระจายตัวมีความแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละประเทศ เวียดนามมีจำนวนตลาดสูงสุดรวม 219 แห่ง ขณะที่ สปป.ลาวมีจำนวนต่ำสุดรวมทั้งสิ้น 53 แห่ง  ภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีจำนวนผู้เข้าใช้บริการในตลาดอีคอมเมิร์ซแบบ B2C เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ในช่วงปี 2019-2022 มีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการ 12%  

ประเทศที่ผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นสูง ประกอบด้วย ฟิลิปปินส์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์  ขณะที่บรูไนดารุสซาลามและเกาหลีใต้มีจำนวนผู้ใช้บริการค่อนข้างคงที่  ส่วน สปป.ลาว มองโกเลีย และกัมพูชา มีจำนวนผู้ใช้บริการลดลง  ปัจจัยที่ส่งผลต่อปริมาณการใช้บริการประกอบด้วย จำนวนประชากร รายได้ประชากรต่อหัว และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เมื่อพิจารณาแยกประเภทของอีคอมเมิร์ซพบว่า เว็บไซต์เป็นตลาดที่โดดเด่นที่สุด โดยมีจำนวนช่องทาง 47.2% ของตลาดอีคอมเมิร์ซทั้งหมด มีส่วนแบ่งการเข้าใช้บริการ 82.4% ขณะที่การค้าขายสินค้าผ่านสื่อสังคม (Social Media) มีช่องทางรวม 43.5% ของตลาดอีคอมเมิร์ซทั้งหมด  แต่มีสัดส่วนผู้เข้าใช้บริการเพียง 11.5% ของส่วนแบ่งการเข้าชมทั้งหมด  

ประเทศที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อซื้อขายสินค้ามากที่สุด ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ส่วนประเทศที่นิยมใช้เว็บไซต์ซื้อขายสินค้า ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ผู้ครองตลาดอีคอมเมิร์ซส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติ มีอินโดนีเซียประเทศเดียวเท่านั้นที่เว็บไซต์ของประเทศตนเองครองตลาดอันดับ 1   ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีเว็บไซต์สัญชาติเอเชียครองตลาด 54% โดยมี Shopee และ Lazada เป็นเว็บไซต์ที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด  ขณะที่เว็บไซต์สัญชาติอเมริกาเหนือมีสัดส่วนตลาด 27% 

รายงานฉบับนี้ระบุว่า การเติบโตของเว็บไซต์ข้ามชาติสร้างอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดสำหรับสินค้าจาก SMEs ดังนั้นรัฐบาลควรส่งเสริมการเติบโตของเว็บไซต์ระดับประเทศ โดยพัฒนาเว็บไซต์ระดับชาติที่จำหน่ายสินค้าที่มีโอกาสเติบโต และสินค้าที่มีการแข่งขันไม่สูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก รถยนต์ มอเตอร์ไซค์และอะไหล่ เครื่องใช้ไฟฟ้า/ไอที และเครื่องใช้ในครัวเรือน สินค้าอุปโภคบริโภค 

ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงสินค้าที่มีการแข่งขันสูง ได้แก่ แฟชั่น เครื่องประดับ และรองเท้า ความงาม สุขภาพ   นอกจากนั้นภาครัฐควรเร่งพัฒนาระบบห่วงโซ่อุปทานสินค้าและระบบการขนส่งภายในประเทศ การสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อจ้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญจากต่างประเทศ การพัฒนาระบบการชำระเงิน และการบังคับใช้กฎหมายที่รองรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

ผู้เขียน
น้ำผึ้ง ทัศนัยพิทักษ์กุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12671 วันพุธที่ 26 มิถุนายน 2567
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 488 facebook twitter mail
Top