บทความวิชาการ
view 310 facebook twitter mail

อาเซียนท่ามกลางพลวัตห่วงโซ่คุณค่าโลก

เกี่ยวกับเอกสาร

ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาเราต่างคุ้นชินกับห่วงโซ่คุณค่าโลก (Global Value Chains: GVCs) ที่โยงใยประเทศต่าง ๆ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมระดับโลก อาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคสำคัญที่โอบรับการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตของประเทศต่าง ๆ มาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เนื่องจากปัจจัยการผลิตและค่าแรงที่มีราคาถูกของอาเซียน นับแต่นั้นมาอาเซียนก็ได้กลายมาเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น รถยนต์ และอุปกรณ์เล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ตามข้อมูลจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเชีย (ADB) ระบุว่า รูปแบบห่วงโซ่การผลิตแบบดั้งเดิมนั้นได้ถูกท้าทาย จากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มีมูลค่าสูงกว่าอุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น AI, Cloud Computing, รวมทั้งระบบอัตโนมัติ ทำให้การมีค่าแรงราคาถูกนั้นไม่ใช่ข้อได้เปรียบของการเป็นฐานการผลิตให้กับอุตสาหกรรมเหล่านี้อีกต่อไป หากแต่เป็นความพร้อมของทรัพยากรมนุษย์และสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลให้แก่การผลิตและการบริการในอุตสาหกรรมเหล่านั้นต่างหากที่เป็นจุดดึงดูดการลงทุน

นอกจากนี้การพึ่งพาการเป็นฐานการผลิตใน GVCs อุตสาหกรรมดั้งเดิมอย่างรถยนต์สันดาปภายในและเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างก็มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์หันมาให้ความสนใจกับเทคโนโลยีรถยนตร์ไฟฟ้ามากขึ้นซึ่งส่งผลให้ชิ้นส่วนบางอย่างที่ใช้ในรถสันดาปหายไป นอกจากนี้ทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างหันมาใช้ระบบอัตโนมัติมากยิ่งขึ้นซึ่งต้องพึ่งพาชิปในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

ในช่วงที่ผ่านมากระแสข่าวการลงทุนของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกต่างหลั่งไหลเข้ามาในอาเซียน Microsoft, google, Nvidia, และ ByteDance ต่างมีแผนลงทุนในมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งอาเซียนได้รับอานิสงส์จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสองมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน ทำให้บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นเพื่อกระจายความเสี่ยง 

การลงทุนของบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของอาเซียนที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งใน GVCs ของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนมากยิ่งขึ้น การลงทุนเหล่านี้จะนำมาซึ่งการจ้างงานที่มีคุณภาพและรายได้ที่สูงขึ้นของแรงงานในภูมิภาค   

อย่างไรก็ตามความท้าทายสำคัญในการสร้างความพร้อมให้กับการเป็นฐานการผลิตของเทคโนโลยีระดับสูงนั้นจำเป็นต้องมีแรงงานที่มีทักษะสูง ซึ่งหลายประเทศในอาเซียนเองก็พยายามที่จะยกระดับความรู้ความสามารถของประชากรผ่านการออกนโยบายต่าง ๆ เช่น โครงการ SkillFuture SG ของสิงคโปร์ ยุทธศาสตร์เซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติของมาเลเซีย ที่มีเป้าหมายสร้างวิศวกรทักษะสูงเข้าสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และโครงการ Prakerja ของอินโดนีเซีย

สำหรับประเทศไทย การเข้าไปมีส่วนร่วมใน GVCs ของเทคโนโลยีใหม่ถือเป็นบททดสอบสำคัญว่าไทยจะสามารถดำรงสถานะของตนให้อยู่ในห่วงโซ่การผลิตที่ทันสมัยได้หรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาอุตสาหกรรมหลักของไทยต่างก็กำลังถูกท้าทายจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรม Hard Disk Drives (HDD) เองก็กำลังจะถูกแทนที่ด้วย Solid-State Drives (SDD) ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์เองก็กำลังถูกท้าทายด้วยรถยนต์ EV ที่มีส่วนประกอบยานยนต์น้อยกว่ารถสันดาปภายใน ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตชิ้นส่วนเหล่านั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้เขียน
ภูชิสส์ ภูมิผักแว่น
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12666 วันพุธที่ 19 มิถุนายน 2567
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top