บทความวิชาการ
view 545 facebook twitter mail

การพัฒนาห่วงโซ่คุณค่า ‘มะพร้าว’ ใน ACMECS

เกี่ยวกับเอกสาร

มะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากเป็นพืชพื้นถิ่นดั้งเดิมที่ประชาชนปลูกและบริโภคประจำวัน  และด้วยความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากอากาศร้อนส่งผลให้น้ำมะพร้าวได้รับความนิยมบริโภคมากยิ่งขึ้น ขณะที่น้ำมันมะพร้าวถือเป็นน้ำมันทางเลือกเพื่อสุขภาพที่สำคัญ  ปัจจัยด้านอุปสงค์เหล่านี้ส่งผลให้ความต้องการบริโภคมะพร้าวเพิ่มขึ้น

ในปี 2024 อุตสาหกรรมมะพร้าวในกลุ่มประเทศสมาชิก ACMECS ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม มีการเติบโตและเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ  ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวจากภูมิภาคนี้ ประกอบด้วย น้ำมะพร้าว น้ำมันมะพร้าว และเนื้อมะพร้าวแห้ง  เวียดนามและไทยยังคงเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว  ส่วนกัมพูชาและสปป.ลาวกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมมะพร้าวในประเทศของตนเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

ประเทศไทยยังคงเป็นศูนย์กลางการแปรรูปมะพร้าวที่สำคัญในภูมิภาค ด้วยความเชี่ยวชาญในการผลิตน้ำมะพร้าวและน้ำมันมะพร้าวที่มีคุณภาพสูง โดยมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่ต้องการสินค้าจากธรรมชาติและมีคุณภาพสูง ตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป  บางปีไทยนำเข้ามะพร้าวจากประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งได้แก่ อินโดนีเซีย และเวียดนาม

เวียดนามให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนในเทคโนโลยีและการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตและการแปรรูปมะพร้าว ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมีนัยสำคัญ  นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆ ของมะพร้าว เช่น การใช้เส้นใยมะพร้าวในอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอและวัสดุก่อสร้าง 

โดยภาพรวมห่วงโซ่คุณค่ามะพร้าวในอนุภูมิภาค ACMECS เติบโตอย่างมีศักยภาพ ทั้งนี้อุตสาหกรรมมะพร้าวยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกมะพร้าว การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ และการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลก การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมมะพร้าว

ในการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่ามะพร้าว  ประเด็นการพัฒนาที่ต้องร่วมมือกันประกอบด้วย การลงทุนในเทคโนโลยีและการวิจัย การส่งเสริมการเพาะปลูกอย่างยั่งยืน การพัฒนาบุคลากร การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์  จากการประชุมของประเทศสมาชิก ACMECS ซึ่งจัดภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลเกาหลีใต้ระหว่างวันที่ 27-29 พฤษภาคม 2567 ณ เมียนมา การนำเสนอของทุกประเทศสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานมะพร้าวเพื่อเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ 

กรณีประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้านให้ความสนใจความก้าวหน้าในการศึกษาวิจัยระดับต้นน้ำด้านการพัฒนาพันธุ์มะพร้าวเพื่อรักษาคุณภาพของผลผลิต การใช้ประโยชน์ผลผลิตมะพร้าวตามแนวคิด BCG ที่มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มและลดของเสีย รวมทั้งการปรับเปลี่ยนสู่การปลูกแบบลดการใช้สารเคมีซึ่งเป็นแนวโน้มใหม่ของความต้องการผู้บริภาคในตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป 

ดังนั้นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมะพร้าวขยายการลงทุนสู่ประเทศเพื่อนบ้านโดยอาศัยความรู้และประสบการณ์ในการบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่ามะพร้าวเพื่อการผลิตและส่งออกนอกภูมิภาคจึงถือเป็นโอกาสที่สำคัญของผู้ประกอบการไทย

ผู้เขียน
วิมล ปั้นคง
รองผู้อำนวยการ (วิชาการ)
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12656 วันพุธที่ 5 มิถุนายน 2567
หน้า 8 (ซ้าย) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top