บทความวิชาการ
view 847 facebook twitter mail

สิงคโปร์ในภาวะโลกเดือด

เกี่ยวกับเอกสาร

ปี 2566 ที่ผ่านมาเป็นปีปฏิทินที่ร้อนที่สุดเท่าที่บันทึกสถิติตั้งแต่ปี 2393 และในปี 2567 นี้อุณภูมิพื้นผิวโลกก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุณภูมิพื้นผิวโลกต่อเดือนสูงที่สุดนับแต่ปี 2393 ทำลายสถิติต่อเนื่องติดต่อกัน 11 เดือนตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2566 – เม.ย. 2567

สิงคโปร์ก็เผชิญหน้ากับปี 2566 ที่ร้อนที่สุด โดยมีอุณภูมิวัดได้สูงสุดที่ 37 องศาเซลเซียส เท่ากับอุณหภูมิที่เคยวัดได้ในปี 2526 ซึ่งสูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมาในสิงคโปร์ นอกจากนี้ สิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศเกาะยังเสี่ยงต่อผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ฝนตกหนัก ฝนแล้ง และสภาพอากาศสุดขั้วทั้งหลาย ทำให้การปรับตัวและบรรเทาต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวาระสำคัญระดับชาติ

ตามเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี 2593 สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และสังคม ในการเปลี่ยนผ่านสู่คาร์บอนต่ำ โดยเร่งการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจ ลงทุนในเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ และนำแนวปฏิบัติแบบคาร์บอนต่ำมาใช้

การดำเนินงานที่สำคัญคือกฎหมายกำหนดกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing Act) ซึ่งสิงคโปร์เป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ใช้กลไกราคาคาร์บอนในปี 2562 โดยใช้บังคับภาษีคาร์บอน (carbon tax) กับสถานประกอบการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงอย่างน้อย 25,000 tCO2e ครอบคลุมคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรีสออกไซด์ ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ และครอบคลุมเพิ่มถึงไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ตั้งแต่ปี 2567

เริ่มต้นกำหนดอัตราภาษีคาร์บอนที่ 5 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อ tCO2e ระหว่างปี 2562-2566 เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านในระยะ 5 ปี โดยอัตราภาษีคาร์บอนจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ เป็น 25 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อ tCO2e ในปี 2567-2568 และ 45 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อ tCO2e ในปี 2569-2570 ทั้งนี้ ในปี 2573 ภาษีคาร์บอนของสิงคโปร์จะอยู่ที่ 50-80 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อ tCO2e

ในการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิงคโปร์มีการประเมินความเสี่ยง วางแผนการปรับตัว รวมถึงตั้งศูนย์วิจัยสภาพภูมิอากาศสิงคโปร์ (CCRS) เพื่อสร้างความสามารถด้านภูมิอากาศศาสตร์ (climate science) ซึ่งเป็นความพยายามในการทำความเข้าใจศาสตร์แห่งสภาพอากาศและภูมิอากาศ รวมถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสิงคโปร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลการศึกษาของ CCRS เผยแพร่ในรายงานการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ

สำหรับการปรับตัวเตรียมรับกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น สิงคโปร์เพิ่มความสูงขั้นต่ำของการถมดิน ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งโดยสร้างกำแพงและแนวหินป้องกันครอบคลุม 70-80% ของชายฝั่ง ทั้งยังมีการศึกษาและเตรียมพร้อมหากมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน นอกจากนี้ การระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมยังดำเนินการแบบองค์รวมเพื่อให้ระบบมีความยืดหยุ่น

ขณะที่ในการจัดการทรัพยากรน้ำซึ่งมีจำกัด น้ำจากการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ (NEWater) และน้ำจากการกำจัดเกลือจากน้ำทะเล เป็น 2 ใน 4 แหล่งทรัพยากรน้ำที่มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากไม่จำเป็นต้องพึ่งพาน้ำฝน และสามารถสร้างความมั่นคงทางน้ำได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีความเสี่ยงและอ่อนไหวต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมาก การบรรเทาและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสิงคโปร์นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีอย่างยิ่ง การเตรียมพร้อม ปรับตัวอย่างเหมาะสม รวมทั้งมีมาตรการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นทางรอดในภาวะโลกเดือดแห่งนี้

ผู้เขียน
ภัชชา ธำรงอาจริยกุล
นักวิจัยอาวุโส
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12646 วันพุธที่ 22 พฤษภาคม 2567
หน้า 12 (ซ้าย) คอลัมน์ “Insight ASEAN”
https://docs.google.com/spreadsheets/d/1xQlRBtaMjBsysOZwmH4IRPH98ba_vE0CUNeIugzeu9E/edit#gid=1660150272

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top